อนุภาคนาโนและไมโครบีดส์กักเก็บสารสกัดกระเทียม

ชื่อเทคโนโลยี / สิ่งประดิษฐ์
อนุภาคนาโนและไมโครบีดส์กักเก็บสารสกัดกระเทียม

ภาพโดย Steve Buissinne จาก Pixabay

 

วิจัยและพัฒนาโดย
ดร.ณัฎฐิกา แสงกฤช และคณะ
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช.

ที่มา และความสำคัญที่นำมาสู่การพัฒนาเทคโนโลยีนี้

สารสำคัญในกระเทียมที่ได้รับการยอมรับ คือ อัลลิซิน มีการศึกษาของ Cavallito และ Bailey (1994) พบว่า อัลลิซิน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ช่วยต้านการแข็งตัวของเม็ดเลือดแดง ช่วยลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด ลดคลอเรสเตอรอลและระดับน้ำตาล ช่วยรักษาการอักเสบ สมานแผล อีกทั้งมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา และเชื้อปรสิตได้หลายชนิดอีกด้วย โดยสารอัลลิซินเป็นสารที่ไม่เสถียร สลายตัวได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับความชื้นหรืออุณหภูมิที่สูงขึ้น

เนื่องจากสารสำคัญในกระเทียมไม่เสถียรและสลายตัวได้ง่าย ดังนั้น ทีมวิจัยเวชศาสตร์นาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. โดย ดร.ณัฎฐิกา แสงกฤช และคณะ จึงนำสารสกัดกระเทียมมาพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบของอนุภาคนาโนไขมันที่มีการกักเก็บสารสกัดกระเทียม ช่วยในการเก็บรักษาและควบคุมการปลดปล่อยสารสำคัญออกมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ได้ดีและยาวนานขึ้น

 

สรุปเทคโนโลยี

อนุภาคนาโนห่อหุ้มสารสกัดจากระเทียมนี้ถูกออกแบบให้สารสกัดกระเทียมมีความคงตัว ไม่ถูกทำลายด้วยกรดในกระเพาะอาหาร ส่งเสริมการดูดซึมได้ในลำไส้ โดยใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทางเลือกที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันทั้งในคนและสัตว์ได้

คุณลักษณะ และจุดเด่นของเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเทคโนโลยี

การกักเก็บสารสกัดกระเทียมในอนุภาคนาโนเป็นการช่วยเพิ่มความสามารถในการละลายได้ดียิ่งขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สารสกัดธรรมดา อีกทั้งยังสามารถควบคุมการปลดปล่อยสารสำคัญได้เป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น โดยสามารถใช้เป็นสมุนไพรทางเลือกในการยับยั้งการเจริญเติบโต ของเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อราและเชื้อปรสิต ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ

นอกจากนี้ ทีมวิจัยได้มีการทดลองศึกษาผลของอนุภาคนาโนบรรจุสารสกัดกระเทียมในการยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ในระดับห้องปฏิบัติการ พบว่าอนุภาคนาโนกักเก็บสารสกัดกระเทียม มีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ได้ดีกว่าอนุภาคเปล่าและสารสกัดที่ไม่ได้กักเก็บ ด้วยศักยภาพของอนุภาคดังกล่าว จึงได้มีการพัฒนาต่อเป็นอนุภาคนาโนในเม็ดบีดส์เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการรับประทาน และเป็นการรักษาคุณสมบัติและฤทธิ์ของสารสกัดกระเทียมไว้ เพื่อให้แตกตัวที่ลำไส้และดูดซึมได้มากขึ้น

ระดับความพร้อมเทคโนโลยี

ระดับการทดลอง (Experimental)
ระดับต้นแบบ (Prototype)
ระดับถ่ายทอด (Transfer)

ตลาด/กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

o เกษตร/ประมง
o เวชสำอาง/เวชภัณฑ์
o การแพทย์
o อาหาร/เครื่องดื่ม

สถานภาพสิทธิบัตร

สิทธิบัตร /อนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 2003000490 เรื่อง องค์ประกอบอนุภาคนาโนไขมันกักเก็บสารสกัดกระเทียม และอนุภาคไมโครแคปซูลที่กักเก็บอนุภาคนาโนไขมันกักเก็บสารสกัดกระเทียม ที่มีความสามารถในการเพิ่มการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนัง และทำลายเซลล์มะเร็ง วันที่ยื่นคำขอ 6 มีนาคม 2563

ภาพผลงาน/ผลิตภัณฑ์


รูปที่ 1 ลักษณะโครงสร้างของไมโครบีดส์กักเก็บอนุภาคนาโนของสารสกัดกระเทียมที่ความเข้มข้นของแคลเซียม คลอไรด์ที่แตกต่างกัน และลักษณะการสลายตัวของไมโครบีดในสภาวะจำลองการย่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้

(ก) ก่อนการย่อย
(ข) การย่อยในกระเพาะอาหารชั่วโมงที่ 1
(ค) การย่อยในกระเพาะอาหารชั่วโมงที่ 2
(ง) การย่อยในลำไส้ชั่วโมงที่ 2
(จ) การย่อยในกระเพาะอาหารชั่วโมงที่ 3 และ
(ฉ) การย่อยในกระเพาะอาหารชั่วโมงที่ 4

สนใจขอรับข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดต่อได้ที่
ชื่อ : วรรณพรรณ ภู่เล็ก หน่วยงาน : งานพัฒนาธุรกิจ
เบอร์ติดต่อ : 02-564-7100 ต่อ 76807 อีเมล : Wannapan.poo@10.228.26.6