ผลงานวิจัย นาโนเทค สวทช. คว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัยประจำปี 2560 รางวัลระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในงานวันนักประดิษฐ์ ปี 2561

ผลงานวิจัย นาโนเทค สวทช. คว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัยประจำปี 2560 รางวัลระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในงานวันนักประดิษฐ์ ปี 2561

 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561

            นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการนาโนโมเลกุลเป้าหมาย หน่วยวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อชีวิตและสุขภาพ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2561 รางวัลระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์  จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากผลงานวิจัยเรื่อง “การวัดปริมาณน้ำตาลบนอัลบูมินเพื่อติตตามภาวะเบาหวาน” (Albumin Glycation for Diabetes Mellitus Monitoring) โดยมี ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ พร้อมด้วย ดร.อุดม อัศวาภิรมย์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อชีวิตและสุขภาพและนักวิจัยนาโนเทค มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดี  ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

                       ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง กล่าวว่า “งานวิจัยดังกล่าวเริ่มต้นจากงานวิจัยพื้นฐานในการศึกษาพัฒนาแอปตาเมอร์ที่จับจำเพาะกับโปรตีนไกลเคทเตดอัลบูมินที่เป็นตัวบ่งชี้เบาหวาน จากนั้นจึงพัฒนาต่อยอดเป็นวิธีการตรววัดเบาหวานแบบใหม่ที่ไม่ต้องอดอาหาร และใช้ได้ทั้งคนปกติ และคนที่มีความผิดปกติในการสร้างเม็ดเลือดแดง และโปรตีนฮีโมโกลบิน (ซึ่งเป็นข้อจำกัดของวิธีการตรวจวัดเบาหวานในปัจจุบัน) ผลงานบางส่วนกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทผลิตชุดตรวจเบาหวานจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันทีมวิจัยกำลังจะนำต้นแบบในส่วนของชุดตรวจไกลเคทเตดอัลบูมิน พร้อมกับเครื่องตรวจวัดแบบพกพาไปทดสอบภาคสนามที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อนำข้อมูลไปยื่นจดมาตรฐานเครื่องมือ และจดทะเบียน อย. ต่อไป “

ดร.เดือนเพ็ญ ยังกล่าวต่ออีกว่างานวิจัยนี้พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อนำไปต่อยอดใช้ในการตรวจวิเคราะห์ ติดตาม รวมทั้ง วางแผนการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยมีผู้ร่วมวิจัย ประกอบด้วย ดร.ศศินี บุณยรัตพันธุ์ น.ส.ชยาชล อภิวาท น.ส.เกียรตินิดา ตรีรัตน์ตระกูล จากห้องปฏิบัติการนาโนโมเลกุลเป้าหมาย ดร.ธิติกร บุญคุ้ม ดร.ขุนเสก เสกขุนทด จากห้องปฏิบัติการระบบอุปกรณ์นาโน และดร.ภัทราพร ลักษณ์สิริกุล ดร.ประภาศิริ พงษ์ประยูร จากหน่วยงานภายนอกอีกด้วย