นักวิจัยนาโนเทค สวทช. คว้ารางวัลชนะเลิศ DMSc Award ประจำปี ๒๕๖๒ ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์

  นักวิจัยนาโนเทค สวทช. คว้ารางวัลชนะเลิศ   DMSc Award  ประจำปี ๒๕๖๒ ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์

ดร.ณัฏฐิกา แสงกฤช  หัวหน้าทีมวิจัยเวชศาสตร์นาโน กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เข้ารับรางวัลชนะเลิศ DMSc Award  ประจำปี ๒๕๖๒  ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง อนุภาคนาโนลิโปโซมแบบมุ่งเป้าเพื่อการวินิจฉัยพร้อมรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองปฐมภูมิที่ระบบประสาทส่วนกลาง ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ ๒๗ ภายใต้หัวข้อ “Healthy Living with Medical Sciences: Genomics” จัดโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๐ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยปีนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงโปรดให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.คุณหญิงมธุรส รุจิรวัฒน์ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิจัยและวิชาการ เป็นผู้แทนพระองค์เปิดการประชุม

ผลงานวิจัยของ ดร.ณัฏฐิกา แสงกฤช   เป็นโรคเนื้องอกในสมอง/มะเร็งสมอง (brain tumors/cancer) จัดเป็นโรคที่วินิจฉัยและรักษายากมาก มีอัตราการเกิดความพิการและอัตราตายที่สูง และมีแนวโน้มของอุบัติการณ์เกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก แม้จะมีการคิดค้นยาที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษา แต่ปัญหาที่พบคือมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นไม่สามารถผ่านเข้าไปรักษาโรคในสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะในสมองของมนุษย์มีตัวกรองกั้นระหว่างเลือดและสมอง (blood-brain barrier; BBB) เป็นตัวกีดขวางการเข้าไปของสารจากภายนอก ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับมะเร็งสมองต่อมน้ำเหลืองปฐมภูมิในระบบประสาทส่วนกลาง (primary central nervous system lymphoma; PCNSL) ด้วยเช่นกัน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

 

ทีมวิจัยได้ออกแบบและประดิษฐ์อนุภาคนาโนสำหรับตรวจวินิจฉัยพร้อมรักษา (theranostics) ซึ่งประกอบด้วยอนุภาคนาโนลิโปโซม (liposome) ที่บรรจุสารทึบรังสี superparamagnetic iron oxide nanoparticles (SPIONs) (สำหรับการเป็น contrasting agent ติดตามเซลล์เป้าหมาย) ที่ทำงานร่วมกับ therapeutic antibody ชื่อ Rituximab (สำหรับการกำหนดเป้าหมายและการรักษาที่เฉพาะเจาะจง) และมีสารลดแรงตึงผิวเพื่อช่วยให้ระบบนำส่งนี้ข้ามผ่าน BBB จากการประเมินประสิทธิภาพของอนุภาคพบว่า อนุภาคสามารถข้ามผ่าน BBB ได้จริง มีความจำเพาะในการจับและเข้าเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของ Rituximab ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งแบบ apoptosis ในหลอดทดลองได้และมีผลต่อการยับยั้งเซลล์มะเร็งที่อยู่ภายใต้ BBB ทีมวิจัยได้ศึกษาเบื้องต้นในระดับ pre-clinical เพื่อยืนยันความสามารถในการวินิจฉัยแบบจำเพาะกับมะเร็งสมองในหนูทดลองที่มีอาการโรค พบสัญญาณของ MRI ชัดเจนที่บริเวณเป้าหมายในสมองหนูทดลอง จากผลการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าระบบส่งนาโนชนิดใหม่นี้มีศักยภาพ สำหรับการพัฒนาต่อยอดทางคลินิก เพื่อใช้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระบบประสาทส่วนกลางปฐมภูมิและโรคความบกพร่องทางสมอง (neurodegerative disease) ชนิดอื่น ๆ ด้วย โดยสามารถปรับเปลี่ยนยา โมเลกุลมุ่งเป้า หรือสารทึบรังสี เพื่อให้เหมาะสมกับการรักษาโรคตามต้องการได้

งานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และศูนย์เครือข่ายการวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยี นาโนเทค- มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านการวิจัยเวชศาสตร์นาโนวินิจฉัยพร้อมรักษา

โดยในปีนี้มีผู้รับรางวัล ๓ รางวัล ดังนี้ 

  • รางวัลชนะเลิศ ประเภทงานวัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

ผู้ได้รับรางวัลคือ ดร. ณัฏฐิกา แสงกฤช ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผลงานวิจัยเรื่อง อนุภาคนาโนลิโปโซมแบบมุ่งเป้าเพื่อการวินิจฉัยพร้อมรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองปฐมภูมิที่ระบบประสาท ส่วนกลาง

  • รางวัลชนะเลิศ ประเภทหนังสือ/ตำราทางวิทยาศาสตร์การแพทย์

ผู้ได้รับรางวัลคือ รศ.นพ. ชาญวิทย์ พรนภดล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานวิจัย โรคสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder –ADHD)  

  • รางวัลชนะเลิศ ประเภทงานการพัฒนาบริการหรือการพัฒนาคุณภาพบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ได้รับรางวัลคือ นายไพรัตน์ จำบัวขาว กลุ่มงานเทคนิคแพทย์ โรงพยาบาลบ้านเหลื่อม จังหวัดนครราชสีมา จากผลงานวิจัยเรื่อง นวัตกรรม LAB 4.0

งานประชุมวิชาการประจำปีจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีนำเสนอความก้าวหน้าของผลงานวิชาการและแลกเปลี่ยนความรู้ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งผลงานต่างๆ จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชนในที่สุด โดยในปีนี้มีการนำเสนอผลงานวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขทั้งสิ้น ๒๑๑ เรื่อง