นักวิจัยนาโนเทค สวทช. คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2562

นักวิจัยนาโนเทค สวทช. “ตัวพาอนุภาคนาโน…เพื่อการนำส่งยาในร่างกายอย่างแม่นยำ”

คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2562

ดร.ธีรพงศ์ ยะทา นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ   คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ 2562 โดยรับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

(31 กรกฏาคม 2562) มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2562 ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 37 โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีและกล่าวแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัล ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

 

สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2562  มีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 4 รางวัล ประกอบด้วย

รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น   1 รางวัล

ผศ. ดร. มนตรี สว่างพฤษ์   อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (School of Energy Science and Engineering)  สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)   ผู้คิดค้นและพัฒนาวัสดุกราฟีนสู่นวัตกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า

รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่    3 รางวัล

  1. ดร. ธีรพงศ์   ยะทา   นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผลงานวิจัย “ตัวพาอนุภาคนาโน เพื่อการนำส่งยาในร่างกายอย่างแม่นยำ”
  2. ผศ. ดร. เอกพันธ์ ไกรจักร   อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลงานวิจัย “ความหลากหลายนิเวศวิทยาและวิวัฒนาการของไบรโอไฟต์และไลเคนส์”
  3. ผศ. ดร. ภูวดล ธนะเกียรติไกร อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลงานวิจัย “นวัตกรรมนิติพันธุศาสตร์ แก้ไขปัญหาความมั่นคง)

ในโอกาสนี้ ดร. วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกล่าวแสดงความยินดีกับนักวิจัยผู้ที่ได้รับรางวัล โดยมี ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการฯ พร้อมทีมนักวิจัยร่วมมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดี

 

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้จัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ “การวิจัยขั้นแนวหน้า(Frontier Research) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรม” โดย รศ.ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์, ดร. จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, รศ.ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, คุณอรุณรัตน์ วุฒิมงคลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ดร.วิไลพร เจตนจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเทคโนโลยี บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

 

ด้วยผลงานที่มีคุณภาพของ ดร. ธีรพงศ์ ยะทา “ตัวพาอนุภาคนาโน… เพื่อการนําส่งยาในร่างกายอย่างแม่นยํา” บ่อยครั้งที่การใช้ยาหรือวัคซีนในการป้องกันและรักษาโรค ต่างๆ ทั้งในคนและสัตว์นั้นล้มเหลว หรือไม่ได้ผล เท่าที่ควร ทั้งนี้เพราะขาดอีกระบบสําคัญที่จะทําหน้าที่นําส่งยาไปยังอวัยวะเป้าหมาย ซึ่งก็คือ ตัวพา หรือระบบนําส่ง ที่ภายหลังเมื่อเข้าไปในร่างกายแล้วจะสามารถนําส่งและควบคุมการปลดปล่อยยา ณ บริเวณที่เกิดโรค หรืออวัยวะเป้าหมายได้อย่างจําเพาะเจาะจง จึงนับว่าเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของสารออกฤทธิ์ให้มี ประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งยังเป็นการลดผลข้างเคียง หรืออันตรายจากการใช้ปริมาณยาที่มากเกินไป

 

 

ดร. ธีรพงศ์ ยะทา และทีมวิจัย ได้ร่วมกันพัฒนาระบบนําส่งด้วยเทคโนโลยีระดับนาโน โดยได้ออกแบบ และสังเคราะห์ตัวพาอนุภาคนาโนหลากหลายชนิด เพื่อการนําส่งแบบมุ่งเป้าประสิทธิภาพสูงของยา วัคซีน ชีววัตถุ และสารออกฤทธิ์ชีวภาพจากสมุนไพร โดยพัฒนาตัวพาอนุภาคนาโนที่ใช้วัตถุดิบตั้งต้นเป็นสารอินทรีย์ชีวโมเลกุล มีความปลอดภัย ย่อยสลายได้ในร่างกาย โดยได้นําองค์ความรู้เหล่านี้มาต่อยอดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมยาและวัคซีน สําหรับป้องกันและรักษาโรคในคน และสัตว์จํานวนมากมาย ที่มีความโดดเด่นในวงการ วิชาการ รวมถึงเป็นที่ยอมรับในวงการอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ นอกนี้ยังได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย จากเวทีแข่งขันนวัตกรรมระดับนานาชาติหลายรายการ หลายผลงานได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ และได้รับการยื่นจดสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ตัวอย่างผลงานวิจัยที่พัฒนาโดย ดร.ธีรพงศ์ ยะทา และทีมวิจัย ที่มีศักยภาพสูงในการนำไปใช้ประโยชน์ ในเชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณประโยชน์ เช่น การพัฒนานาโนวัคซีนเกาะติดเยื่อเมือก เพื่อใช้ในการให้วัคซีนแบบแช่ ช่วยป้องกันและลดความเสียหายจากการเกิดโรคติดเชื้อในปลานิล ที่สามารถใช้กับปลาทุกขนาด ทีละจำนวนมากๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับแบบเดิม ที่ใช้วิธีฉีดด้วยเข็มทีละตัว วิธีนี้จะมีต้นทุนที่ต่ำ ประหยัดเวลาและแรงงานกว่ามาก นอกจากนี้ยังมี อนุภาคนาโนกักเก็บน้ำมันกานพลูเพื่อลดความเสียหายระหว่างการขนส่งและเคลื่อนย้ายที่เกิดจากความเครียดของสัตว์น้ำ โดยออกฤทธิ์เป็นยาสลบ ลดความบอบช้ำและเสียหายของสัตว์น้ำระหว่างการขนส่ง และสามารถยับยั้งการการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรคในปลา และล่าสุดได้พัฒนานวัตกรรมการคุมกำเนิดสุนัขและแมวเพศผู้ ด้วยเทคโนโลยีการนำส่งสารสกัดจากธรรมชาติที่ออกฤทธิ์เหนี่ยวนำกระบวนการฝ่อของท่อสร้างอสุจิในอัณฑะ ข้อดีของนวัตกรรมนี้คือ สามารถทำหมันเพศผู้โดยไม่ต้องผ่าตัด ลดความเจ็บปวด และลดโอกาสติดเชื้อจากแผลผ่าตัด มีความปลอดภัย ลดต้นทุนต่อการผ่าตัดทำหมัน นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมและวัคซีนสำหรับสัตว์เศรษฐกิจอีกมากมาย ที่อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา

ด้วยผลงานการพัฒนาระบบนําส่งตัวพาระดับนาโนเพื่อการนำส่งยาในร่างกายอย่างแม่นยำ โดยเป็นผู้ประดิษฐ์สิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร (13 รายการ) และผลงานวิชาการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติรวมแล้ว 15 ผลงานตีพิมพ์ และ 7 ผลงานที่เป็นผู้วิจัยหลัก และยังได้รับรางวัลต่างๆ มากมายจากเวทีแข่งขันนวัตกรรมระดับนานาชาติหลายรายการ​