นาโนเทคอวดโฉมนวัตกรรมรับ กวทช.

 

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ต้อนรับคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) ในโอกาสการเยี่ยมชมการดำเนินงานด้านวิจัยและพัฒนาของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ซึ่งครั้งนี้ ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. พร้อมด้วยทีมผู้บริหารและนักวิจัย ได้นำเสนอผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG Model” ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่มุ่งเน้นการตอบโจทย์กลุ่มอุตสาหกรรม 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ด้านการเกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานและวัสดุ และการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ นาโนเทค เข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้นาโนเทคโนโลยีในงานวิจัยตาม BCG Model 3 กลุ่ม ได้แก่

ด้านการเกษตรและอาหาร ซึ่งป็นงานวิจัยที่ตอบโจทย์กลุ่มอาหารเสริมสุขภาพทั้งในคนและสัตว์ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากพอลิโคซานอลที่สกัดมาจากไขอ้อย และอาหารเสริมสุขภาพจากน้ำมันงาขี้ม้อนชนิดบรรจุแคปซูลนิ่ม ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถเสริมประสิทธิภาพการดูดซึมได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นอาหารเสริมสุขภาพของคน และยังมีไฮโดรเจลกักเก็บโปรตีนสำหรับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์น้ำ และไข่ออกแบบได้ นวัตกรรมสารอาหารสำหรับไก่เพื่อเพิ่มคุณภาพของไข่ ที่ตอบความต้องการของอุตสาหกรรมสัตว์เศรษฐกิจ เป็นต้น

 

ด้านสุขภาพและการแพทย์ มุ่งเน้นเรื่องของนาโนเทคโนโลยีเพื่อนำส่งสารสำคัญสมุนไพร สำหรับการประยุกต์ใช้ด้านสุขภาพและการแพทย์แม่นยำ (Herbs and Cosmeceutical, Medical and Healthcare) เช่น การพัฒนาโนเวชสำอางจากอนุภาคนาโนสารสกัดสมุนไพรไทย การพัฒนาอนุภาคนาโนเพื่อใช้ในชุดตรวจแบบรวดเร็วสำหรับการวินิจฉัยโรคทั้งในคนและสัตว์ รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเข็มขนาดนาโนเมตรเพื่อการนำส่งยาและการวินิจฉัยทางการแพทย์ในอนาคตอีกด้วย

 





ด้านพลังงานและวัสดุ มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการลดปริมาณคาร์บอน ผลิตพลังงานและสารเคมีมูลค่าสูง ด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสงประดิษฐ์ หรือ Artificial Photosynthesis (AP) โดยผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่จำลองมาจากการสังเคราะห์แสงของพืช ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีตัวเร่งปฏิกิริยา นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปชีวมวลให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ เช่น การพัฒนาพลาสติกชีวภาพ (Biopalstic) จากวัสดุเหลือทิ้ง แทนการผลิตพลาสติกจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทั้งนี้ เพื่อการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ สู่ชั้นบรรยากาศ

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการผลิตพลังงาน ด้วยสารเคลือบนาโนชนิดพิเศษจากการพัฒนาสารดูดซับความร้อนที่ผสมนาโนซิลิกาและอนุภาคนาโนกราฟีนที่มีการยึดเกาะบนผิวท่อแสตนเลสได้ดีและสามารถดูดซับความร้อนได้มากขึ้นโดยนำไปใช้กับท่อดูดซับความร้อนในระบบผลิตพลังงานแบบ Parabolic trough solar concentrator




การนำเสนอนวัตกรรมจากการวิจัยและพัฒนาของนาโนเทค สวทช. ในครั้งนี้ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจาก คณะกรรมการ กวทช. และจะนำไปหารือร่วมกันเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกันกับ สวทช. ต่อไป