นาโนเทค สวทช. จับมือเครือข่ายพันธมิตร จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus group) ภายใต้โครงการ CCUS TRM เพื่อขับเคลื่อนไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) นำโดย ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการนาโนเทค พร้อมด้วยผู้บริหารและนักวิจัย จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) เพื่อรับฟังความคิดเห็นภายใต้โครงการ “แผนที่นำทางเทคโนโลยีดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน เพื่อนำทางประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (CCUS TRM)” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ในนามผู้แทนหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างนาโนเทคและเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ร่วมกันผนึกความเชี่ยวชาญทั้งด้านเทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญด้านการจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยี เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการจัดทำ CCUS TRMภายในงานได้รับเกียรติจากเครือข่ายพันธมิตร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จากหน่วยงานต่าง ๆ ครอบคลุมหน่วยวิจัย มหาวิทยาลัย หน่วยงานกำกับและขับเคลื่อนนโยบาย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนผู้ใช้เทคโนโลยีการลดก๊าซเรือนกระจก และแก๊ส CO2 อาทิ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันวิทยสิริเมธี, กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.), องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.), บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าร่วมการประชุม

การประชุมรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) ภายใต้ โครงการ “แผนที่นำทางเทคโนโลยีดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน เพื่อนำทางประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (CCUS TRM)” ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่ต้องการแผนสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยเกี่ยวกับ CCUS Technology ให้ตอบโจทย์ต่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย ตามที่นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ COP26 หรือ UN Climate Change Conference of the Parties (COP26) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งนายกฯ ประกาศเป้าหมายสำคัญคือประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) ด้วยเงื่อนไขภายใต้การสนับสนุนด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในขณะที่การขับเคลื่อนด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการลดผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนก็มีการให้ความสำคัญและผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593 รวมทั้งแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 ซึ่งเป็นกลไกเชิงนโยบายในการดำเนินงานเพื่อให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามที่ได้กำหนดไว้ นอกจากนี้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 ก็ได้มีการระบุถึงการประยุกต์ใช้ วทน. ขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีวัสดุ นาโนเทคโนโลยี และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อช่วยดักจับก๊าซ CO2 และนำกลับมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล ที่ได้ระบุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเน้นการนำ วทน. ไปใช้ขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตลอดจนร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566-2570 ได้มีการกำหนดกลยุทธ์ภายใต้หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บก๊าซ CO2 ในภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรม

เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บก๊าซ CO2 หรือ carbon capture, utilization and storage (CCUS) ปัจจุบันประกอบด้วย 2 เทคโนโลยีที่สำคัญได้แก่ 1) carbon capture and storage (CCS) และ 2) carbon, capture and utilization (CCU) ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างยั่งยืน และในหลายๆ ประเทศให้ความสำคัญในการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนสำหรับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางด้านเทคโนโลยี และพัฒนากลไกเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์

ดร.วรรณี กล่าวว่า การประชุมเฉพาะกลุ่มฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นการดำเนินการของ CCUS TRM ซึ่งจะนำสู่การรายงานสถานภาพปัจจุบันของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) รวมถึงเครือข่ายนักวิจัยทางด้าน CCS และ CCU ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนแผนที่นำทางเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS TRM) ที่เชื่อมโยงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนกับเทคโนโลยี CCUS รวมถึงกลไกการขับเคลื่อนตามแผนที่นำทางฯ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฯ และโครงการนำร่องที่สำคัญต่อไป