สวทช. ผนึกพลัง TCELS – วว. จัดกิจกรรมติดอาวุธผู้ประกอบการไทยกลุ่มเวชสำอาง/สมุนไพร กรุยทางเปิดตลาดต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566  ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย – สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย วว. จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมทักษะด้านการเจรจาธุรกิจ Business Pitching ให้กับผู้ประกอบการไทยในกลุ่มเวชสำอาง/สมุนไพร เพื่อเสริมสร้างทักษะการเจรจาธุรกิจ เรียนรู้กระบวนการเจรจาต่อรอง และวิธีนำเสนอสินค้า/บริการแก่นักลงทุน เพื่อต่อยอดการสร้างความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงานบริหาร ให้เกียรติกล่าวเปิดงานและต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “Perfect Pitch เจรจาธุรกิจอย่างไรให้ได้งาน ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเวชสำอางและสมุนไพรสู่ตลาดต่างประเทศ ปี 2566  หรือ Cosmeceutical and Herbal Innovation with Business Link 2023 (CIB2023) โดยโครงการจะคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเพื่อเข้าร่วมการบ่มเพาะ เรียนรู้และฝึกฝนทักษะในด้านต่างๆ ที่สำคัญ/จำเป็นต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน คุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัย ให้มีความพร้อมมากที่สุดสำหรับการต่อยอดในเชิงธุรกิจสู่ตลาดสากล

โอกาสนี้ ดร.พัชราภรณ์ วงษา ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารโภชนเภสัชภัณฑ์และเวชสำอาง TCELS พร้อมด้วยผู้บริหารจาก วว. ได้แก่นายจิรวัฒน์ วัฒนบุตร ผู้อำนวยการกองบริการธุรกิจนวัตกรรม และ ดร.ธัญชนก เมืองมั่น นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือก 6 บริษัท เข้าร่วมกิจกรรมด้วย โดยในกิจกรรมได้มีการบรรยายให้ความรู้ และการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อทางด้านการพัฒนาทักษะด้านการเจรจาธุรกิจ เช่น Pitching Model Canvas,  PROFESSIONALITY for Pitcher, Sales Pitching รวมถึง ทักษะในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Voice Communication) และทักษะการพัฒนาบุคลิกภาพให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเร่งผลักดันและส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอางหรือเวชสำอาง สารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพร  ให้สามารถขยายตลาดไปสู่ระดับนานาชาติได้ รวมถึงเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สารสกัดสมุนไพรไทยได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นสินค้าและบริการมีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่อไป