ด้านการวิเคราะห์ทดสอบทางนาโนเทคโนโลยี, Anti-bacterial, ทดสอบความปลอดภัยและฤทธิ์ทางชีวภาพ

ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบทางนาโนเทคโนโลยีขั้นสูง (National Advanced Nano-characterization Center : NANC) เปิดให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ รวมทั้งดำเนินการพัฒนา วิจัย และสนับสนุนทางด้าน การวิเคราะห์สมบัติระดับนาโนของตัวอย่างที่หลากหลาย ทั้งในด้านฟิสิกส์ เช่น การวิเคราะห์ขนาด รูปร่าง และพื้นผิวของวัสดุนาโน ด้านเคมี เช่น การตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมีของตัวอย่าง และด้านชีวภาพ เช่น การทดสอบคุณสมบัติการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น สามารถรองรับตัวอย่างจากภาคอุตสาหกรรม ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ พลาสติก อาหาร ยาและเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยได้รับมาตรฐานและได้รับการรับรอง ISO 9001 และ ISO/IEC 17025 การให้บริการมีดังนี้

1. Atomic Force Microscope (AFM) หรือ กล้องจุลทรรศน์แรงอะตอม : เป็นเทคนิคในการวิเคราะห์สมบัติทางกายภาพของพื้นผิวตัวอย่างที่ต้องการตรวจวัด ในระดับนาโนเมตร โดยสามารถศึกษาสมบัติต่าง ๆ ดังนี้

– วัดสมบัติทางรูปร่าง (Morphology properties) ได้แก่ ค่าความเรียบ ความขรุขระ ความสูงต่ำ วัดขนาดอนุภาคนาโน

– วัดสมบัติทางกล (Mechanical properties) ได้แก่ ความยืดหยุ่น ความแข็งแรงของพื้นผิว ในระดับนาโนเมตร

– วัดสมบัติทางไฟฟ้า (Electrical properties) ได้แก่ วัดกระแส วัดความนำไฟฟ้า บนพื้นผิว

– ศึกษาสมบัติของตัวอย่างในสภาวะสุญญากาศสูง (high vacuum) การให้ความร้อน/เย็น (heat/cool) เพื่อศึกษาสมบัติต่าง ๆ บนพื้นผิวที่เปลี่ยนไปตามอุณหภูมิ รวมไปถึงการวัดตัวอย่างแบบแห้ง และในสารละลาย เช่น น้ำ หรือ buffer เป็นต้น

ตัวอย่างที่สามารถตรวจวัดได้ด้วยเทคนิค AFM เช่น ฟิล์มบาง แผ่นเซรามิค แผ่นโลหะ วัสดุเคลือบผิวชนิดต่าง ๆ  ฟิล์มพอลิเมอร์ แผ่นพลาสติก ยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ เส้นใยพอลิเมอร์ รวมไปถึงวัสดุนาโน เช่น ท่อนาโนคาร์บอน อนุภาคนาโนต่าง ๆ ตัวอย่างทางชีวภาพ เช่น เซลล์ แบคทีเรีย

2. Confocal Raman Spectroscopy : เป็นเทคนิคในการวัดการสั่นของโมเลกุลซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ (vibrational characteristic) โดยการกระตุ้นด้วยแสงเลเซอร์ เพื่อศึกษาพันธะเคมี (chemical bond) และการกระจายตัวของสาร (chemical distribution) บนพื้นผิวตัวอย่าง ความยาวคลื่นแสงที่สามารถใช้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิด Raman scattering มี 3 ชนิด คือ สีน้ำเงิน 473 nm, สีเขียว 532 nm, และสีแดง 632.8 nm เทคนิค confocal Raman spectroscopy สามารถวิเคราะห์ด้วยโหมดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

– Raman spectrum คือ การวัดลักษณะของ Raman scattering ที่เกิดขึ้นบนผิวของตัวอย่างที่ต้องการตรวจวัด ผลที่ได้จะเป็น กราฟ Raman spectrum เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ต่อไป
– Raman imaging คือ การวัด Raman spectrum ด้วยการสแกนพื้นที่ไปบนจุดต่าง ๆ บนพื้นผิวของตัวอย่างที่ต้องการตรวจวัด ผลที่ได้จะเป็น chemical mapping เพื่อดูการกระจายตัวของสารที่ต้องการตรวจวัด
– confocal Raman spectroscopy คือ การตรวจวัด Raman spectrum ลึกลงไปในชั้นต่าง ๆ ของตัวอย่างที่ต้องการตรวจวัด เหมาะสำหรับตัวอย่างที่มีลักษณะเป็น core shell หรือ multi-layer coating เป็นต้น
– AFM related Raman mapping คือการตรวจวัด AFM และ Raman ในตำแหน่งเดียวกัน เพื่อศึกษาสมบัติทาง physical และ chemical ในตำแหน่งเดียวกันบนตัวอย่างที่ต้องการตรวจวัด

เทคนิค confocal Raman spectroscopy สามารถตรวจวัดตัวอย่างได้ทั้งแบบแห้งและแบบเปียก เป็นของแข็ง หรือเป็นผง ยกตัวอย่างเช่น ท่อนาโนคาร์บอน ฟิล์มบาง แผ่นพลาสติก ยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ วัสดุนาโนชนิดต่าง ๆ รวมไปถึงเซลล์ แบคทีเรีย เป็นต้น

3. Surface area and porosity (ISOTHERM/BET) : วิเคราะห์พื้นที่ผิวของตัวอย่าง (Surface area) วิเคราะห์หาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของรูพรุน (Pore size diameter) ปริมาตรของรูพรุน (Pore volume) ตัวอย่างที่สามารถวัดได้คือแบบผง

4. Contact angle หรือ เครื่องวัดมุมสัมผัสของหยดน้ำ : เป็นเทคนิคในการศึกษาสมบัติความชอบและไม่ชอบน้ำของพื้นผิวของตัวอย่าง โดยการหยดสารละลาย เช่น น้ำ แอลกอฮอล์ หรือสารเคมีอื่น ๆ ลงบนพื้นผิว และวัดมุมสัมผัสที่เกิดขึ้น สามารถประยุกต์ใช้ในงานวิจัย เช่น  การวิเคราะห์ประสิทธิภาพของสารเคลือบกันน้ำ (water repellent) กระจกรถยนต์ ฟิล์มเคลือบกระจกในอาคาร เป็นต้น สามารถวิเคราะห์โหมดต่าง ๆ ได้ดังนี้

– วัดมุมสัมผัสของหยดน้ำ น้ำมัน สารเคมีชนิดต่าง ๆ (contact angel measurement)
– วัด surface energy โดยการหยดสารละลาย ที่มีความเป็นขั้วที่ต่างกัน อย่างน้อย 3 ชนิด ลงบน ผิวของตัวอย่าง และทำการคำนวณหาค่า surface energy
– วัดบน temperature control heat stage เพื่อศึกษาผลของอุณหภูมิที่มีต่อมุมสัมผัสของหยดน้ำบน ผิวของตัวอย่าง

 

5. Field Flow Fractionation (FFF) :  เครื่องแยกอนุภาคในตัวกลางที่เป็นของเหลว โดยเทคนิค Multi Flow Field -Flow Fractionation และเครื่องแยกอนุภาคแบบไหลภายใต้สนามชนิดแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง และ (Centrifugal Field-Flow Fractionation)

6. Transmission Electron Microscope (TEM) หรือกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนกำลังขยายสูงแบบส่องผ่าน : สามารถทำกำลังขยายได้สูงถึง 1500000 เท่า และใช้อัตราเร่งอิเล็กตรอนได้สูงสุดที่ 200 kV สามารถวิเคราะห์ดูโครงสร้างภายใน ลักษณะทางกายภาพ ขนาดอนุภาค และสามารถวิเคราะห์หาองค์ประกอบธาตุได้ด้วยเทคนิค EDX

7. Environment Scanning Electron Microscope (E-SEM) หรือ กล้องจุทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด : กำลังขยายได้สูงถึง 300000 เท่า สามารถวิเคราะห์ดูโครงสร้างลักษณะทางกายภาพ และขนาดอนุภาค

8. Focused Ion Beam และ Field Emission Scanning Electron Microscope (FIB และ FE-SEM) : กำลังขยายสูงถึง 1000000 เท่า สามารถวิเคราะห์ดูโครงสร้างลักษณะทางกายภาพ ขนาดอนุภาค และสามารถวิเคราะห์หาองค์ประกอบธาตุได้ด้วยเทคนิค EDX โดยอุปกรณ์ FIB สามารถตัดตัวอย่างด้วยความละเอียดระดับนาโนเมตรเพื่อการตรวจวัดภายในเนื้อวัสดุ

9. Nano Coater for EM : เครื่องเคลือบผิวตัวอย่างด้วยฟิล์มทอง หรือคาร์บอน ทำให้พื้นผิวตัวอย่างนำไฟฟ้า เพื่อนำไปวิเคราะห์ด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด นอกจากนั้นยังสามารถนำฟิล์มเคลือบไปใช้งานด้านอื่นได้ด้วย

10. Fluorescence Stereomicroscope : กล้องจุลทรรศน์ที่สามารถดูสิ่งมีชีวิตหรือตัวอย่างที่สามารถเรืองแสงหรือเปล่งแสงเองได้

11. Fluorescence Spectrometer : วัดการเรืองแสงของสาร โดยอาศัยการกระตุ้นจากแหล่งกำเนิดแสงและวัดแสงที่ได้จากการปลดปล่อยจากสารตัวอย่าง (Emission) ช่วงความยาวคลื่นที่วัดได้คือ 200-900 nm. สามารถวัดได้ทั้งตัวอย่างที่เป็นของเหลว ผง ฟิล์ม พลาสติก อะคริลิก เป็นต้น

12. Fourier Transform Infrared Spectroscopy (FT-IR) : วิเคราะห์หมู่ฟังก์ชั่นของตัวอย่างโดยอาศัยการวัดการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดทำให้หมู่ฟังก์ชั่นของสารแต่ละฟังก์ชั่นเกิดการสั่นที่ความถี่แตกต่างกันโดยรายงานออกในรูปแบบเลขคลื่น หรือ wave numbers

13. GC-MS (coupling Headspace), GC-MS/MS : วิเคราะห์หาชนิดและปริมาณของสารประกอบเคมีอินทรีย์ที่ระเหยได้ เช่น การวิเคราะห์องค์ประกอบในน้ำมันหอมระเหยหรือ Essential oil content, สารสำคัญในพืชสมุนไพร, สารเคมีกลุ่ม Pesticides, Napthalene, Phthalate และ VOCs ที่ตกค้างในอาหาร, บรรจุภัณฑ์ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงสารประกอบไฮโดรคาร์บอนจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น

14. HPLC, LC-MS/MS : วิเคราะห์หาชนิดและปริมาณขององค์ประกอบในของผสมโดยใช้หลักการแยกสารโดยใช้ของเหลวเป็นตัวพาเปรียบเทียบผลที่ได้กับข้อมูลของสารมาตรฐาน เช่น การวิเคราะห์สารตกค้างยา ฆ่าแมลง (Pesticides, Herbicides), สารปนเปื้อนในอาหาร และสิ่งแวดล้อม, สารเสพติด, ตัวอย่างทางการแพทย์, เภสัชกรรม และทางการเกษตร รวมถึงงานวิจัยทางด้านโปรตีนและสารเมตาโบไลต์ เป็นต้น

15. Analytical Ultra Centrifuge (AUC) : วิเคราะห์องค์ประกอบของสารต่าง ๆ ในขณะที่หมุนเหวี่ยง โดยใช้ตัวตรวจวัด (detector) ที่หัวหมุน ในช่วงความยาวคลื่น 190 – 800 นาโนเมตร ทำการวิเคราะห์หาการเคลื่อนที่ของชั้นอนุภาค การนอนก้นของอนุภาคตามแรงหมุนเหวี่ยง เพื่อการวิเคราะห์ Assembly และ Disassembly mechanisms ของ biomolecular complexes, การวิเคราะห์ subunit stoichiometries, การเปลี่ยนแปลง macromolecular conformation รวมถึงการวิเคราะห์การกระจายตัวของขนาดอนุภาค nanoparticles กับความหนาแน่น และมวลโมเลกุล เป็นต้น

16. Nano Mechanical Tester(NMT) หรือ Nano Indenter :เป็นเทคนิคในการศึกษาสมบัติทางกลของตัวอย่างที่ต้องการตรวจวัด เพื่อศึกษาความแข็งแรง (stiffness) ความยืดหยุ่น (elasticity) แรงยึดเกาะ (adhesion) ของวัสดุนาโนหลากหลายชนิด สามารถวิเคราะห์ในโหมดต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้

– Nano-indentation test เป็นการใช้หัวกดที่มีขนาดเล็กในระดับนาโนเมตร – ไมโครเมตร กดลงไปบนผิวตัวอย่างที่ต้องการตรวจวัด ด้วยแรงที่กำหนด เพื่อศึกษาความแข็งแรง ความทนทานต่อแรงกดของผิวชิ้นงานหรือผิวเคลือบ
– Nano-scratch test เป็นการใช้หัวกด ลากไปบนผิวชิ้นงาน ด้วยแรงที่กำหนด เพื่อศึกษาความแข็งแรง ความทนทานต่อรอยขีดช่วนของผิวชิ้นงานหรือผิวเคลือบ
– Nano-wear test เป็นการใช้หัวกด ลากเป็นพื้นที่ ด้วยแรงกดที่กำหนด เพื่อศึกษาความแข็งแรง ความสามารถในการยึดติดของสารเคลือบหรือชั้นเคลือบของชิ้นงาน
– High temperature control สามารถตรวจวัดสมบัติทางกลของชิ้นงานที่เปลี่ยนไปตามอุณหภูมิได้

สามารถศึกษาสมบัติทางกลของตัวอย่างในสภาวะทั้งแบบแห้งและแบบเปียกได้ และสามารถตรวจวัดตัวอย่างของแข็ง หรือเป็นผง เช่น ฟิล์มบางระดับนาโนเมตร แผ่นโลหะ สีเคลือบผิววัสดุต่าง ๆ แผ่นกระจก แผ่นไม้ พลาสติก ผงโลหะ ผงแป้ง รวมถึงวัสดุนาโนชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

17. Weathering testing oven, Q-SUN : เครื่องจำลองสภาวะแสงแดดในสภาวะจริง จำลองความชื้นด้วยระบบควบคุมความชื้น สามารถจำลองช่วงสเปกตรัมของแสงแดดได้ทั้งหมด ครอบคลุมทั้ง UV, Visible light และ infrared จึงเหมาะกับงานทดสอบสี ประเภทสิ่งทอหรือหมึกพิมพ์

18. UV accelerated weathering tester, QUV : เครื่องเร่งสภาวะอากาศ เป็นการจำลองสภาวะอากาศให้วัสดุเสื่อมสภาพหลังจากมีการใช้งานเป็นระยะเวลานาน ประกอบด้วย การต้านทานแสงอาทิตย์ การหาอายุการใช้งาน การกันน้ำ การทนต่อการสึกร่อน การแตกร้าว การเปลี่ยนสี การซีดจางของสี จึงเหมาะกับงานทดสอบความทนทาน อย่างเช่น หลังคา งานเคลือบ งานพลาสติก เป็นต้น

19. Mastersizer : วิเคราะห์ขนาดของอนุภาคที่กระจายตัวในสารละลาย ได้ตั้งแต่ 10 นาโนเมตร จนถึง 3 มิลลิเมตร โดยการวัดความเข้มของแสงและมุมการกระเจิงของแสงที่ยิงไปกระทบกับสารตัวอย่าง ต่างจากการวัดด้วย DLS ตรงการเตรียมตัวอย่าง จำนวนแหล่งกำเนิดแสง และดีเทคเตอร์

20. Dynamic Light Scattering (DLS), Nanosizer : วิเคราะห์ขนาดของอนุภาค ที่กระจายตัวในสารละลาย ได้ตั้งแต่ 0.3 นาโนเมตร จนถึง 10 ไมโครเมตร และดูการกระจายตัวของขนาดอนุภาคในสารละลาย (size and particle size distribution) โดยวัดความเข้มของแสงและมุมการกระเจิงของแสงที่ยิงไปกระทบกับสารตัวอย่าง และยังสามารถวิเคราะห์ประจุบนพื้นผิวของอนุภาค (Zeta potential) ที่อยู่ในสารละลายได้

21. Optical Microscope : กล้องจุลทรรศน์ เป็นกล้องขยายที่ใช้ส่องดูพื้นผิวของตัวอย่างในระดับไมโครเมตร ดูลักษณะทางกายภาพบนพื้นผิว ดูความเป็นผลึกของอนุภาค (polarization lens) ตัวกล้องจะเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ สามารถบันทึกผลเพื่อวิเคราะห์ขนาด ความกว้าง นับจำนวนอนุภาค ด้วยโปรแกรมได้ สามารถวิเคราะห์ตัวอย่างได้ทั้งของแข็ง ผง ได้ทั้งแบบแห้งและแบบเปียก รวมถึงตัวอย่างทึบแสง และโป่รงแสงได้

22. Tensiometer : วัดแรงตึงผิวของของเหลว อาทิเช่น เครื่องสำอาง น้ำยาซักฟอก สี น้ำมัน สารเคมี อิมัลชั่น เป็นต้น

23. Critical Point Drying (CPD) : เครื่องเตรียมตัวอย่างให้แห้งที่จุดวิกฤตแบบอัตโนมัติ เป็นการเก็บรักษาสภาพตัวอย่างทางด้านไบโอให้แห้งสนิท

24. Thermogravimetric Analysis (TGA) : วิเคราะห์หาความเสถียรของวัสดุเมื่อได้รับความร้อน เหมาะกับการวิเคราะห์ตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับการดูดซับแก๊สหรือการระเหยของน้ำ การตกผลึกอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนสถานะ

25. Differential Scanning Calorimetry (DSC) : วิเคราะห์สมบัติทางความร้อนของวัสดุ จุดหลอมเหลว จุดเยือกแข็ง การเปลี่ยนสถานะ การระเหย วิเคราะห์อุณหภูมิการสลายตัว วิเคราะห์ปริมาณพลังงานที่ใช้ในการหลอมเหลว วิเคราะห์หาค่าของความจุความร้อนจำเพาะ (Cp)

26. UV-Vis-NIR Spectrophotometer : วัดการดูดกลืนของแสง (Absorptance) วัดการทะลุผ่านของแสง (%Transmittance) และวัดการสะท้อนของแสง (%Reflectance)
ช่วงความยาวคลื่นที่วัดได้คือ 200-2000 nm. สามารถวัดได้ทั้งตัวอย่างที่เป็นของเหลว ผง ฟิล์ม พลาสติก อะคริลิก เป็นต้น

27. ICP-MS : วิเคราะห์ธาตุ และความเข้มข้นของธาตุโดยหลักการของอะตอมมิกสเปกโทรสโกปี

28. X-Ray Diffractometer (XRD), Bench Top X-Ray Diffraction Analyzer : วิเคราะห์โครงสร้างผลึกของตัวอย่างโดยอาศัยหลักการเลี้ยวเบนของรังสีเอ็กซ์ที่ตกกระทบหน้าผลึกของสารตัวอย่างที่มุมต่าง ๆ กัน

29. Anti-bacterial : ทดสอบประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ได้แก่ AATCC 147, JIS L 1902, CLSI M02-A11, AATCC 100, JIS Z 2801, ISO 22196, ASTM E 2149, CLSI M07-A9 โดยเชื้อที่ใช้ในการทดสอบมีดังนี้ Staphylococcus aureus, Escherichia coli, Klebsiella pneumoniae, Pseudomonas aeruginosa,

30. ทดสอบด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย : เป็นการทดสอบในแบบจำลองเซลล์และเนื้อเยื่อแบบสามมิติ และแบบจำลองตัวอ่อนปลาม้าลายทดแทนการใช้สัตว์ทดลองขนาดใหญ่ สามารถทดสอบได้ในกลุ่มอุตสาหกรรม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยา อาหาร ปิโตรเคมีขั้นปลาย และวัสดุนาโน เป็นต้น

30.1 ทดสอบความปลอดภัยและฤทธิ์ทางชีวภาพต่อระบบทางเดินอาหาร เพื่อทดสอบความปลอดภัยของวัตถุดิบ สารสกัดสมุนไพร ยา อาหารและอาหารเสริม ได้แก่ การศึกษาพิษเฉียบพลัน และการดูดซึมด้วยแบบจำลองเนื้อเยื่อลำไส้สามมิติ (3D-intestinal model)

30.2 การทดสอบความปลอดภัยและฤทธิ์ทางชีวภาพในตัวอ่อนปลาม้าลาย

ปลาม้าลายมีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Danio rerio ซึ่งเป็นปลาที่ได้ทำการศึกษาและยืนยันแล้วว่าสามารถใช้เป็นแบบจำลองของสัตว์มีกระดูกสันหลังได้ โดยแบบจำลองปลาม้าลายมีการใช้กันอย่างกว้างขวางในงานวิจัยด้านพิษวิทยาและเภสัชวิทยา

ข้อดีของปลาม้าลายเมื่อเทียบกับแบบจำลองอื่นๆ ที่เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังคือ

  • วางไข่จำนวนมากในแต่ละครั้ง
  • มีการปฏิสนธิภายนอก
  • ง่ายต่อการจัดการด้านพันธุกรรม
  • มีตัวที่โปร่งแสงตั้งแต่ระยะตัวอ่อนจนถึงระยะตัวเต็มวัยช่วงต้นๆ ซึ่งทำให้เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับวิธีต่างๆที่สามารถประมวลผลจากภาพ

นอกจากนี้ แบบจำลองปลาม้าลายยังมีพันธุกรรมและระบบการทำงานของอวัยวะที่คล้ายคลึงกับมนุษย์สูง

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้มีการนำปลาม้าลายมาใช้เป็นโมเดลทางเลือกในการศึกษาความเป็นพิษของสารเคมี ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สารออกฤทธิ์ รวมถึงวัสดุนาโน โดยงานวิจัยของห้องปฏิบัติการปลาม้าลายมุ่งที่จะศึกษา

  1. การประเมินความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและต่อสุขภาพในระดับพรีคลินิก
  2. การบ่งชี้ถึงฤทธิ์ด้านยาของสารโดยใช้ตัวอ่อนปลาม้าลาย
  3. การติดตามอนุภาคนาโนที่มีแสงฟลูออเรสเซนต์เมื่อเข้าสู่ระบบไหลเวียนในตัวปลา
  4. การศึกษากระบวนการชีวภาพในระดับโมเลกุล

ห้องปฏิบัติการปลาม้าลายของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เปิดให้บริการเพื่อทดสอบผลิตภัณฑ์โดยใช้แบบจำลองปลาม้าลายมาช่วยในกระบวนการ R&D ของภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสารเคมี เภสัชกรรม เครื่องสำอาง และ โภชนบำบัด โดยมีการเปิดให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ 2 วิธีด้วยกัน ได้แก่

  1. การทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลันต่อตัวอ่อนปลาม้าลาย

เป็นการทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลันของสารตัวอย่างมีความสำคัญต่อการประเมินความปลอดภัยของสารนั้นๆ การทดสอบทำได้โดยการใช้ตัวอ่อนปลาม้าลายในการทดสอบตามวิธีของ OECD TG 236 (Fish Embryo Toxicity Test) ซึ่งมีความสะดวก รวดเร็ว และค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการใช้แบบจำลองหนู

  1. การทดสอบการยับยั้งการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานินในตัวอ่อนปลาม้าลาย

เม็ดสีเมลานินสามารถมองเห็นได้ในตัวอ่อนปลาม้าลาย ทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบกระบวนการเกิดเม็ดสีได้ง่าย โดยไม่ต้องใช้วิธีการทดลองที่ซับซ้อน ด้วยเหตุนี้ทำให้ได้มีการนำปลาม้าลายมาเป็นแบบจำลองในการประเมินการยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินของสารต่างๆ และใช้ในการสกรีนโมเลกุลขนาดเล็กที่มีผลต่อการควบคุมพัฒนาการของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดสี

 

32. การทดสอบฤทธิ์ชะลอวัย & ต้านอนุมูลอิสระ (Anti-aging & Anti-oxidant testing services)

บริการทดสอบประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์ ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อความงาม โดยใช้โมเดลผิวหนังมนุษย์ 3 ชนิด ดังนี้

  1. เซลล์ผิวหนังมนุษย์ (2D Human Skin Cells)

ทีมวิจัยมีเซลล์มนุษย์หลายรูปแบบ เช่น เซลล์ผิวหนังชั้นนอก (Keratinocytes), เซลล์ผิวหนังชั้นใน (Fibroblasts), เซลล์เม็ดสี (Melanocytes) นอกจากนี้ยังมีเซลล์ผิวหนังชรา (Senescent human skin cells) สำหรับทดสอบฤทธิ์ชะลอวัย (Anti-aging effects) โดยเฉพาะ สำหรับโมเดลเซลล์ผิวหนังมนุษย์นี้ สามารถใช้ทดสอบได้ทั้งสารออกฤทธิ์ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อความงาม

  1. เนื้อเยื่อผิวหนังมนุษย์แบบสามมิติ (3D Human Skin Tissues)

ทีมวิจัยได้พัฒนาระบบทดสอบฤทธิ์ยับยั้งสภาวะชราจากการกระตุ้นด้วยรังสียูวี (Anti-photoaging effect) และฤทธิ์กระจ่างใส (Skin lightening effect) ในเนื้อเยื่อผิวหนังมนุษย์แบบสามมิติ ที่มีโครงสร้างคล้ายกับผิวหนังมนุษย์ และเห็นผลการทดสอบได้เร็วกว่าการทดสอบในอาสาสมัคร ซึ่งโมเดลนี้สามารถทดสอบได้ทั้ง สารออกฤทธิ์, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อความงาม และผลิตภัณฑ์เวชสำอาง

  1. ชิ้นส่วนผิวหนังมนุษย์ (Ex vivo Human Skin Explants)

ชิ้นส่วนผิวหนังมนุษย์ได้มาจากผิวหนังของอาสาสมัครที่เหลือจากการผ่าตัดศัลยกรรมมีจุดเด่นคือ ให้ผลการทดสอบคล้ายคลึงกับการทดสอบในคนมากที่สุด และหากเลือกใช้ผิวหนังที่ได้จากผู้สูงอายุ จะเป็นโมเดลผิวหนังชราที่เป็นตัวแทนของ Chronological aging ได้ดีที่สุดสามารถทดสอบได้ทั้ง สารออกฤทธิ์, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อความงาม และผลิตภัณฑ์เวชสำอาง

ดาวน์โหลดรายละเอียด :
อัตราค่าบริการวิเคราะห์ทดสอบ (Price list)
รายละเอียดการเตรียมตัวอย่าง (Guideline)

แบบฟอร์มขอรับบริการเครื่องมือ

Form1        (Instrument)

แบบฟอร์มขอรับบริการทดสอบ Anti-bacterial

 Form2     (Antibac)

ติดต่อขอรับบริการได้ที่ :

งานพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรม
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC)
143 อาคาร INC 2 (B) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ถ.พหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
โทร. 0 2564 7100 ต่อ 6567, 6625 Email: bitt-ind@nanotec.or.th