นักวิจัย นาโนเทค สวทช. เข้ารับพระราชทานรางวัลชนะเลิศ DMSc Award ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2564

ดร. เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เข้ารับพระราชทานรางวัลชนะเลิศ DMSc Award ประจำปี 2564 ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง “แอปตาเซ็นเซอร์สำหรับวิเคราะห์อัลบูมินในปัสสาวะเพื่อประกอบการคัดกรองโรคไตเรื้อรัง”จากการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 29 ประจำปีงบประมาณ 2564 ภายใต้หัวข้อ “วิทยาศาสตร์การแพทย์วิถีใหม่ เพื่อสุขภาพและเศรษฐกิจไทย : New Normal Medical Sciences for Thai Health and Economics” โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 29 แบบออนไลน์ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนรับทราบความก้าวหน้าทางวิทยาการนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อที่จะได้พัฒนาและร่วมกันสร้างสรรค์งานวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้มีความก้าวหน้า และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน

ผลงานวิจัย แอปตาเซ็นเซอร์สำหรับตรวจอัลบูมินในปัสสาวะในงานวิจัยนี้มีส่วนประกอบหลักเป็น สารละลายแอปตาเมอร์ที่ถูกติดด้วยสารฟลูออเรสเซนต์ และสารละลายกราฟีนออกไซด์ ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้คุณสมบัติของ กราฟีนออกไซด์ที่มีความสามารถในการยับยั้งการส่งสัญญาณฟลูออเรสเซนต์เมื่อบ่มรวมกับแอปตาเมอร์ที่ติดด้วยสารฟลูออเรสเซนต์สำหรับตรวจวิเคราะห์โปรตีนอัลบูมิน หลักการคือแอปตาเมอร์ที่ติดด้วยสารฟลูออเรสเซนต์เมื่อจับกับกราฟีนออกไซด์แล้ว จะยับยั้งการส่งสัญญาณฟลูออเรสเซนต์ โดยในสภาวะที่มีโปรตีนอัลบูมิน ซึ่งเป็นโปรตีนเป้าหมายอยู่ แอปตาเมอร์จะหลุดจากกราฟีน ไปจับกับโปรตีนอัลบูมิน และส่งสัญญาณฟลูออเรสเซนต์ โดยระดับของสัญญาณฟลูออเรสเซนต์จะสูงขึ้นเมื่อความเข้มข้นของโปรตีนอัลบูมินสูงขึ้น โดยแอปตาเซ็นเซอร์ที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นนี้มีค่า LOD และ LOQ ต่ำถึง 0.05 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร และ 0.15 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ ซึ่งมีความไวในการตรวจวัดดีกว่าวิธีมาตรฐานตามโรงพยาบาลทั่วไป (LOD 20-200 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร) ขึ้นกับบริษัทผลิตจึงสามารถ ใช้ติดตามความผิดปกติของไต หรือหน้าที่ของไตในระยะเริ่มต้นได้ เนื่องจากอัลบูมินรั่วในปัสสาวะเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ของความผิดปกติของไต อีกทั้งชุดตรวจอัลบูมินในปัสสาวะที่พัฒนาขึ้นนี้ยังสะดวกในการใช้งาน โดยระยะเวลาในการตรวจวัดคือ 10-30 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ทางทีมวิจัยยังได้ยื่นจดสิทธิบัตร และตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาต้นแบบนี้ในวารสารนานาชาติแล้ว อีกทั้งยังได้รับอนุญาตจาก อย ให้เป็นสถานที่ผลิตชุดตรวจดังกล่าวได้อีกด้วย


โดยหลังจากผลงานแอปตาเซ็นเซอร์ตรวจอัลบูมินในปัสสาวะที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นนี้ได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตร และตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติแล้ว ได้นำไปใช้ในการตรวจโปรตีนอัลบูมินรั่วในปัสสาวะของชาวบ้านในชุมชน ตำบลโคกสำราญ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น ผ่านโครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (CKDNET) ทั้งนี้ผลการตรวจวัดถูกนำส่งให้ อสม เพื่อชี้แจงผลกับชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการเป็นรายบุคคล เพื่อแนะนำให้ปรับพฤติกรรม รักษาสุขภาพมากขึ้น ตามแนวทาง และแผนการดำเนินงานของโครงการชะลอโรคไตเรื้อรัง หรือปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง นอกจากนี้ทางโครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (CKDNET) ได้ขยายพื้นที่การใช้ชุดตรวจไปยังอีก 7 รพสต ในอำเภอน้ำพอง อำเภอหนองเรือ และอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ในช่วงเดือน กรกฎาคม 2563 ถึง สิงหาคม 2564 อีกด้วย

งานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม 2564 ผู้ที่สนใจสามารถ รับฟังการบรรยายผ่านออนไลน์ระบบ Zoom Webinar และ Facebook Live ได้ 4 ช่องทาง คือ Fan page การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ Food_safety