นาโนเทค สวทช. พัฒนาเทคโนโลยีเคลือบนาโน หนุนการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืน

ทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. ลงพื้นที่วัดปากน้ำ (สมุทรคงคาราม) จังหวัดระยอง ในโครงการ “เทคโนโลยีสารเคลือบนาโนเพื่อการอนุรักษ์อาคารศาสนสถาน” ดูความก้าวหน้าจากการต่อยอดใช้ประโยชน์จากนาโนเทคโนโลยีสู่สารเคลือบพื้นผิว ลดการเกิดคราบสกปรก ตะไคร่น้ำ และเชื้อรา เพิ่มความคงทนและสวยงาม ลดต้นทุนการดูแลรักษาอาคารศาสนสถาน หนุนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า นาโนเทคมีพันธกิจหลักในการดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งเราได้ให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีศักยภาพไปสู่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคม สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

“นาโนเทคเองให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาที่สามารถตอบความต้องการได้แบบ 360 องศา รอบด้านทุกมิติ ซึ่งในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา เราถ่ายทอดผลงาน 39 โครงการ ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ รวม 30 หน่วยงาน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม 3,543 ล้านบาท ผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของภาคการผลิตและบริการ มูลค่ากว่า 117 ล้านบาท” ดร.ภาวดีกล่าว

ในขณะเดียวกัน นาโนเทคก็มีงานวิจัยเพื่อตอบประโยชน์ในเชิงสังคม ล้อไปกับโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

สำหรับเทคโนโลยีสารเคลือบนาโนเพื่อการอนุรักษ์อาคารศาสนสถาน โดย ดร.พิศิษฐ์ คำหน่อแก้ว หัวหน้าโครงการของนาโนเทคที่ได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ วัดปากน้ำ (สมุทรคงคาราม) จังหวัดระยอง ในครั้งนี้ ดร.ภาวดีชี้ว่า เป็นการใช้องค์ความรู้ทางด้านนาโนเทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ ร่วมกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ เพื่อดูแล รักษา และอนุรักษ์ของดีที่มีคุณค่าทางจิตใจของคนในพื้นที่ และยังจะสามารถเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนผ่านระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อีกด้วย

ดร.ธันยกร เมืองนาโพธิ์ นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโนของนาโนเทค กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นการศึกษาคุณสมบัติของวัสดุเชิงเคมี กายภาพ ของอาคารศาสนสถานจากหลายแหล่งที่มา เพื่อการพัฒนาสารเคลือบผิวที่มีคุณสมบัติ กันฝุ่น กันการซึมน้ำ ป้องกันรา ตะไคร่น้ำ คราบสกปรกที่เกาะอยู่บนพื้นผิวของวัสดุที่ใช้บูรณะอาคารศาสนสถาน รวมไปถึงช่วยลดการแตกร้าว ทำให้สามารถยืดอายุพื้นผิวและคงความสวยงามของอาคารศาสนสถานได้ดียิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการปรับปรุงพื้นผิวอนุภาคนาโนซิลิกา โดยเข้าทดสอบภาคสนามการใช้สารเคลือบต้นแบบ เพื่อเคลือบพื้นผิวของหอระฆัง ณ วัดปากน้ำ (สมุทรคงคาราม) อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2562 ที่ผ่านมา

“เรานำสารเคลือบนาโนที่พัฒนาขึ้นไปทดสอบแก้ปัญหาการเกิดเชื้อราในหอระฆังของวัดฯ ที่มีปัญหาเชื้อรา และตะไคร่น้ำ ด้วยปริมาณความชื้นจากสถานที่ตั้งที่อยู่ใกล้ทะเล รวมการแตกลายงาจากอายุของสถานที่ที่ทำให้ต้นทุนการบำรุงรักษาอาคารสถานที่สูงไปด้วย”

หลังจากที่ทีมวิจัยนาโนเทคนำสารเคลือบผิวนาโนที่พัฒนาขึ้นไปฉีดพ่นรอบหอระฆัง และมีการติดตามผลหลังการฉีดพ่นเป็นระยะเวลา 10 เดือน พบว่า สามารถยืดระยะเวลาการเกิดเชื้อรา คราบสกปรก และการแตกลายงา โดยในระยะเวลา 10 เดือนนี้ ไม่มีเชื้อราหรือคราบตะไคร่น้ำเกิดขึ้นเลย ซึ่งการยืดระยะเวลาในการเกิดเชื้อรานี้ ทำให้สามารถนำผลิตภัณฑ์นี้ไปต่อยอดใช้ในการบำรุงรักษาอาคารศาสนสถาน เพิ่มความคงทน ยืดอายุวัสดุที่จะนำไปซ่อมแซมบูรณะ และยังช่วยลดต้นทุนการดูแลรักษา รวมถึงเกิดความสวยงามให้กับอาคารศาสนสถานต่างๆ อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบวิธีการทดสอบการเคลือบผิวอาคารและประเมินประสิทธิภาพของสารเคลือบ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการต่อยอดงานวิจัยไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการเคลือบผิวที่เหมาะสมกับเนื้อวัสดุของสิ่งปลูกสร้าง เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพหรือความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของอาคารศาสนสถานหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ ด้วย

“สำหรับวัดปากน้ำ (สมุทรคงคาราม) นี้ เป็นพื้นที่ใกล้ทะเล มีความชื้นสูง โดยทีมวิจัยตั้งเป้าทดสอบประสิทธิภาพและความคงทนของสารเคลือบนาโนนี้ให้ได้ 10 วัดภายในปี 2563 เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของสารเคลือบในพื้นผิวต่างๆ สภาพแวดล้อม สภาพอากาศที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่” ดร.ธันยกร กล่าว พร้อมชี้ว่า นอกจากการต่อยอดใช้ในเชิงสาธารณประโยชน์และการท่องเที่ยวในพื้นที่ ยังสามารถต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจสี รวมถึงธุรกิจก่อสร้างที่เริ่มมีคนสนใจติดต่อเข้ามาแล้ว