นาโนเทค สวทช. ยกทัพนวัตกรรมตรวจวัดและพัฒนาคุณภาพน้ำเพื่อชุมชน ร่วมงานแถลงข่าว NAC2021

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการนาโนเทค นำทีมนักวิจัย หน่วยงานพันธมิตร นำเสนอนวัตกรรมตรวจวัดและพัฒนาคุณภาพน้ำเพื่อชุมชน ภายในงานแถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 16 (16th NSTDA Annual Conference: NAC2021) ภายใต้แนวคิด “30 ปี สวทช. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยจัดบนแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบผ่านทางเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac ระหว่างวันที่ 25-30 มีนาคม 2564 โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานการแถลงข่าวพร้อมด้วย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. รวมถึงทีมนักวิจัย สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร

โครงการ “เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาฟลูออไรด์ปนเปื้อนในน้ำอุปโภคบริโภคสำหรับพื้นที่ชายขอบ เป็นความร่วมมือระหว่างดร.ณัฏฐพร พิมพะ หัวหน้าทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน นาโนเทค สวทช. พร้อมทีมวิจัยและ รองศาสตราจารย์ ดร.ปฎิภาณ ปัญญาพลกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาฟลูออไรด์ในน้ำบาดาลสำหรับบริโภคอย่างยั่งยืน

จุดเด่นของโครงการนี้คือ การพัฒนาวัสดุกรองถ่านกระดูกสัตว์ ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้ง จึงมีราคาถูก และชุมชนสามารถพัฒนาวัสดุกรองได้เอง และการออกแบบระบบกรองที่ใช้งานและบำรุงรักษาง่าย มีต้นทุนต่ำ

 

โครงการจัดการน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่โรงเรียน ตชด. และชุมชนชายขอบ โดย ดร.จามร เชวงกิจวณิช นักวิจัยจากทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโนนาโนเทค สวทช. เป็นความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคนี้ เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เมื่อ พ.ศ. 2561 ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเทพภูเงิน ตำบลน้ำโสม อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้า, ขาดการเข้าถึงน้ำอุปโภคบริโภคที่สะอาด และเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำให้ชาวบ้านกังวลกับการปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำผิวดินของชุมชน ซึ่งเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันของหลายหน่วยงาน ทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล, สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 10 จังหวัดอุดรธานี, โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเทพภูเงิน, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และชุมชนบ้านเทพภูเงิน เป็นต้น

จากปัญหา ข้อจำกัด และความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคที่สะอาดในพื้นที่ จึงมีการนำพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาใช้ในการช่วยบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ร่วมกับระบบกรองน้ำดื่มที่ใช้พลังงานต่ำ โดยพัฒนาเป็นต้นแบบบ้านน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำหรับน้ำบาดาลที่มีสารละลายในน้ำอยู่น้อย (total dissolved solid < 500 mg/L) โดยการใช้เทคโนโลยีการกรองด้วยอัลตร้าฟิวเตรชั่น (ultrafiltration, UF) ซึ่งเทคโนโลยี UF เป็นเทคโนโลยีการกรองด้วยเมมเบรนละเอียด มีความเหมาะสมในการนำมาผลิตน้ำดื่ม สามารถกรองเชื้อโรคในน้ำได้ดี และสามารถคงแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกายมนุษย์ได้มากกว่าระบบรีเวิร์สออสโมซิส (RO)