ชุดตรวจสำหรับตรวจหาการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ “NanoFlu Rapid Test”

ชื่อเทคโนโลยี / สิ่งประดิษฐ์ ชุดตรวจสำหรับตรวจหาการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่    “NanoFlu Rapid Test” วิจัยและพัฒนาโดย      ภญ.ดร.ณัฐปภัสร วิริยะชัยพร และคณะ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)     ที่มา และความสำคัญที่นำมาสู่การพัฒนาเทคโนโลยีนี้ การติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน และนับเป็นโรค ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่ง โดยสามารถพบได้บ่อยในประชากรทุกเพศทุกวัย และสามารถพบได้ทุกพื้นที่ทั่วโลก การติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่นี้นับเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุข เนื่องจากก่อให้เกิด ภาระในด้านต่างๆ ตามมา ได้แก่ ภาระทางด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมและชุมชนที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย การขาดงานและรายได้ รวมทั้งภาระในการรักษาและดูแลผู้ป่วย ดังนั้น หากไม่มีการตรวจวินิจฉัย คัดกรอง การรักษา การติดตาม และการควบคุมโรคที่ดี อาจสามารถนำไปสู่การระบาดในพื้นที่ต่างๆ ได้ โดยการระบาดนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นการระบาดแบบฤดูกาลดังที่พบทุกปี (epidemic) และแบบระบาดใหญ่ (pandemic) สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการระบาดของไวรัสได้เกิดจากการที่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงโปรตีนของเชื้อไวรัสเองได้ง่าย การปรับตัวของไวรัสนี้ จึงทำให้เชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ การตรวจวินิจฉัยในเบื้องต้น อาจทำได้โดยการสังเกตอาการทางคลินิกของผู้ป่วย […]

นาโนเทค สวทช. พัฒนา ‘ชุดตรวจเพื่อการคัดกรองเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แบบรวดเร็ว’

นาโนเทค สวทช. พัฒนา ‘ชุดตรวจเพื่อการคัดกรองเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แบบรวดเร็ว’ ปูทางสร้างองค์ความรู้ รับมือโรคระบาดใหม่ในอนาคต นักวิจัยนาโนเทค สวทช. พัฒนาชุดตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (NanoFlu) ตัวช่วยตรวจคัดกรองไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ และบี รู้ผลใน 5 นาที เตรียมเดินหน้าทดสอบทางคลินิก ก่อนต่อยอดใช้จริง ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมปูทางเทคโนโลยีแพลตฟอร์มสำหรับชุดตรวจคัดกรองเชื้ออื่นๆ รวมถึงเชื้อโคโรนาไวรัส ภญ.ดร.ณัฐปภัสร วิริยะชัยพร นักวิจัยจากทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซนเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้เริ่มจากปัญหาในการคัดกรองโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการทางคลินิกที่คล้ายคลึงกัน เช่น เป็นไข้ ไอ มีน้ำมูก ดังนั้นนอกจากการแยกอาการทางคลินิกและประวัติการสัมผัสโรคแล้ว จึงยังต้องอาศัยการยืนยันผลด้วยวิธีมาตรฐาน ได้แก่ การเพาะเชื้อ และการใช้วิธีเพิ่มจำนวนของสารพันธุกรรมของเชื้อเป้าหมาย อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของวิธีดังกล่าวนั้นจำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์/เครื่องมือ และห้องปฏิบัติการจำเพาะ และอาศัยความชำนาญในการทดสอบ การตรวจคัดกรองเบื้องต้นซึ่งต้องอาศัยความรวดเร็วจึงมักใช้การตรวจด้วยชุดตรวจแบบรวดเร็วในการทดสอบ “สำหรับชุดตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่นี้ โดยส่วนใหญ่แล้ว เรายังต้องอาศัยชุดตรวจที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมักจะมีราคาสูง และหลากหลายเทคโนโลยี ดังนั้น หากเราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีในการพัฒนาชุดตรวจไข้หวัดใหญ่ขึ้นมาได้ก็จะสามารถลดปัญหาในการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ซึ่งมักพบการระบาดแบบฤดูกาลในทุกปี และช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศอีกด้วย” ภญ.ดร.ณัฐปภัสร กล่าว    […]