นักวิจัยนาโนเทค สวทช. คว้ารางวัลวิทยานิพนธ์ 4 ผลงาน จากสภาวิจัยแห่งชาติ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2563

นักวิจัยนาโนเทค สวทช. คว้ารางวัลวิทยานิพนธ์ 4 ผลงาน   จากสภาวิจัยแห่งชาติ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2563

2 กุมภาพันธ์ 63  ดร.วรรณี ฉินศิริกุล   ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ   ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน พร้อมด้วยนักวิจัยและเจ้าหน้าที่นาโนเทค ร่วมมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับ ดร.กันตพัฒน์ จันทร์แสนภักดิ์  นักวิจัยทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช   ดร.อิทธิ ฉัตรนันทเวช นักวิจัยทีมวิจัยเข็มระดับนาโน ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ดร.อนุศิษย์ แก้วประจักร นักวิจัยทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การภาพและคณิตศาสตร์ และ ดร.  นพดล อรุณยะเดช    ได้รับรางวัลรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดี สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 25623 ณ Event Hall ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

 ผลงานวิทยานิพนธ์ของ ดร.กันตพัฒน์ จันทร์แสนภักดิ์   ฟลูออรีน-18 เป็นธาตุกัมมันตรังสีที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในเทคนิคโพซิตรอนอีมิสชันโทโมกราฟี (Positron Emission Tomography; PET) หรือเรียกสั้นๆว่าเทคนิคเพท ส่วนหนึ่งเนื่องจากฟลูออรีนเป็นธาตุที่พบมากในสารประกอบอินทรีย์ และสามารถเติมเข้าไปในโครงสร้างโมเลกุลที่สนใจได้โดยง่าย จึงสะดวกที่จะนำมาใช้ในการติดฉลากรังสีสำหรับเทคนิคเพท นอกจากนี้การติดฉลากรังสีในสารชีวโมเลกุล เช่น โอลิโกนิวคลิโอไทด์ เปปไทด์ และ โปรตีน กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากโมเลกุลเหล่านี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในการตรวจวินิจฉัย และการรักษาโรคในทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม การเติมฟลูออรีนเข้าไปในโมเลกุลของเปปไทด์หรือโปรตีนโดยตรงทำได้ยาก เนื่องจากสภาวะที่รุนแรงที่ใช้ในปฏิกิริยาการเติมฟลูออรีนเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตกัมมันตรังสี เช่น การใช้อุณหภูมิสูง หรือ การใช้สภาวะที่เป็นกรดหรือเบสที่แรง สามารถทำลายโมเลกุลเปปไทด์หรือโปรตีนได้ การแก้ปัญหาดังกล่าว สามารถทำได้โดยการติดฉลากในสารตัวกลางที่เป็นตัวรับฟลูออรีน-18 (18F captor) ก่อน แล้วจึงนำไปต่อกับโมเลกุลเปปไทด์หรือโปรตีนโดยใช้สภาวะที่ไม่รุนแรงภายหลัง

ผลงานวิทยานิพนธ์ของ ดร. อิทธิ ฉัตรนันทเวช กระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพของการสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็กด้วยวิทยาการคอมพิวเตอร์ คือ การสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging) หรือ เอ็มอาร์ไอ (MRI) เป็นเทคนิคสำหรับการตรวจวินิจฉัยและทำวิจัยทางการแพทย์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเครื่องเอ็มอาร์ไอสามารถเก็บข้อมูลและสร้างภาพเสมือนจริงของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจได้โดยที่ไม่ต้องผ่านการใช้คลื่นรังสีใด ๆ นอกจากเอ็มอาร์ไอจะสามารถเก็บข้อมูลทางกายวิภาคที่มีความคมชัดและมีความละเอียดสูงได้แล้ว การใช้เอ็มอาร์ไอชนิดพิเศษยังสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมทางสรีรวิทยาได้อีกด้วย

ผลงานวิทยานิพนธ์ของ  ดร. อนุศิษย์ แก้วประจักร์ ปัจจุบันมีเทคนิคการเคลือบแบบสารละลายหลายแบบได้ถูกนำเสนอเพื่อประยุกต์ใช้สำหรับการเคลือบแบบสารละลายรูปวงเดือนสำหรับการเคลือบฟิล์มบางสารกึ่งตัวนำไฟฟ้าแบบสารละลาย ซึ่งสามารถนำไปขยายขนาดการเคลือบบนพื้นผิวขนาดใหญ่แบบโรลทูโรล (roll to roll) ได้เช่น dip coating, doctor blading และ slot-die coating    เทคนิคการเคลือบเหล่านี้มีข้อเสียบางประการเช่น ใช้สารละลายจำนวนมากในการเคลือบ มีสารละลายที่สูญเสียไปมากระหว่างทำการเคลือบ บางเทคนิคการเคลือบมีการติดตั้งที่ซับซ้อนและต้นทุนในการติดตั้งสูง นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการเคลือบเพื่อจัดเรียงอนุภาคที่น่าสนใจคือ เทคนิคนำพาการระเหย (convective deposition) เทคนิคนี้มีข้อดีหลายประการเช่น สามารถจัดเรียงอนุภาคระดับไมโครเมตรถึงนาโนเมตรได้อย่างเป็นระเบียบ ทำการเคลือบได้อย่างรวดเร็ว ใช้สารละลายในการเคลือบน้อย ติดตั้งง่าย และสามารถเคลือบฟิล์มบางบนพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ โดยงานวิจัยนี้จะประยุกต์ใช้เทคนิคนำพาการระเหยในการปรับปรุงสภาพพื้นผิว คุณสมบัติทางไฟฟ้าและทางแสงของฟิล์มบางสารกึ่งตัวนำไฟฟ้าแบบสารอินทรีย์และอนินทรีย์ในระหว่างกระบวนการเคลือบเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์      

 ผลงานวิทยานิพนธ์ของ ดร.  นพดล อรุณยะเดช วัสดุนาโนสำหรับการประยุกต์ใช้งานด้านวงจรอิเล็กทรอนิกส์และการตรวจการรับรู้ กระบวนการสังเคราะห์วัสดุนาโนที่มีคุณสมบัติทางกายภาพ และทางเคมีที่เหมาะสม โดยเป็นกระบวนการสังเคราะห์ที่สามารถขยายกำลังการผลิตได้ง่ายและมีต้นทุนต่ำ และศึกษากระบวนการสร้างอุปกรณื (Device Fabrication) จากวัสดุนาโนที่สังเคราะห์ขึ้นให้มีกระบวนการที่สามารถขยายกำลังการผลิตได้ง่าย มีความสม่ำเสมอมีคุณสมบัติทางไฟฟ้าที่ดี มีเสถียรภาพที่ดี และมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ รวมถึงศึกษาเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้งานเป็นเซ็นเซอร์ความไวสูงสำหรับการจับแสงการตรวจก๊าซมีพิษ และการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ เช่น การติดเชื้อไวรัส HIV และการเกิดสภาวะหัวใจขาดเลือด และเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ ใช้งานเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประสิทธิภาพสูง

ทุกท่านสามรถเข้าชมผลงานวิทยานิพนธ์ได้ที่งานวันนักประดิษฐ์ ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2563 ณ Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา