นักวิจัยนาโนเทค สวทช. คว้ารางวัล DMSc Award จากการพัฒนาอนุภาคซิลิกานาโนฟลูออเรสเซนต์ติดฉลาก แอนติบอดีแบบควบคุมทิศทางสำหรับการตรวจจับมะเร็งลำไส้ใหญ่

วันที่ 28 มีนาคม 2561 ดร.สุวัสสา  บำรุงทรัพย์  นักวิจัยนาโนเทค ห้องปฏิบัติการนาโนโมเลกุลเป้าหมาย เข้ารับรางวัลรองชนะเลิศ DMSc Award  ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์  จาก ศ.คลินิกเกียรติคุณ  นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 26 ประจำปี 2561 ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม  เมืองทองธานี  จัดโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

โอกาสนี้ ดร.อุดม   อัศวาภิรมย์  ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อชีวิตและสุขภาพ  พร้อมด้วย ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง  หัวหน้าห้องปฏิบัติการนาโนโมเลกุลเป้าหมาย ร่วมแสดงความยินดีกับ ดร.สุวัสสา  บำรุงทรัพย์  ในการเข้ารับรางวัลรองชนะเลิศ DMSc Award  ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง การพัฒนาอนุภาคซิลิกานาโนฟลูออเรสเซนต์ติดฉลากแอนติบอดีแบบควบคุมทิศทางสำหรับการตรวจจับมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 26 (Medical Sciences Innovation for healthy Thailand; Thailand  4.0  : นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อเมืองไทยแข็งแรง ประเทศไทย 4.0

ผลงานวิจัย เรื่อง การพัฒนาอนุภาคซิลิกานาโนฟลูออเรสเซนต์ติดฉลาก แอนติบอดีแบบควบคุมทิศทางสำหรับการตรวจจับมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นการพัฒนาอนุภาคซิลิกานาโนบรรจุสารฟลูออเรสเซนส์ชนิด Cy5 ติดฉลากด้วยแอนติบอดีที่จับจำเพาะกับ epithelial cell adhesion molecule (EpCAM) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ของมะเร็งลำไส้ใหญ่ และเซลล์มะเร็งชนิดอื่นๆเช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร, ตับอ่อน และช่องปาก โดยเบื้องต้นได้ทำการเคลือบพื้นผิวของอนุภาคที่สังเคราะห์ขึ้นด้วยโปรตีนจี ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมทิศทางและการวางตัวของแอนติบอดีบนผิวของอนุภาค เนื่องจากโปรตีนจีสามารถจับจำเพาะกับส่วนคงที่ (Fc) ของแอนติบอดี ทำให้บริเวณที่ใช้จับกับแอนติเจน (antigen binding site) หันออกจากอนุภาคและจับกับเป้าหมายคือ EpCAM ที่อยู่บนผิวชองเซลล์มะเร็งได้ดี

โดยงานวิจัยนี้ได้แสดงการใช้อนุภาคดังกล่าวตรวจวัดเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิด HT-29 ด้วยวิธีโฟลว์ไซโตเมทรีและการถ่ายภาพฟลูออเรสเซนส์ ซึ่งผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่าอนุภาคที่ติดฉลากด้วยแอนติบอดีแบบควบคุมทิศทางโดยโปรตีนจี สามารถจับกับเซลล์มะเร็งเป้าหมายได้ดีกว่าอนุภาคที่ติดฉลากแอนติบอดีด้วยวิธี EDC coupling ซึ่งเป็นวิธีพื้นฐานและให้สัญญาณฟลูออเรสเซนส์ที่มากกว่าถึง 12 เท่า นอกจากนี้ยังพิสูจน์ว่าสามารถใช้อนุภาคที่ติดแอนติบอดีแบบควบคุมทิศทางสำหรับการตรวจมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพฟลูออเรสเซนส์ โดยพบว่ามีการสะสมของอนุภาคซึ่งแสดงโดยสัญญาณฟลูออเรสเซนส์ที่สูงบริเวณก้อนมะเร็งเมื่อเทียบกับอวัยวะอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะนำผลงานวิจัยนี้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นน้ำยาสำหรับการตรวจวัดและติดตามมะเร็งที่มีความไวและความแม่นยำสูง หรือสามารถนำไปใช้ร่วมกับการรักษาโรคมะเร็งโดยการผ่าตัดได้

สำหรับในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัล DMSc Award ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ มี 2 รางวัล ได้แก่รางวัลชนะเลิศ จากผลงานวิจัย สูตรมะนาวผงยูโรไลม์ลดระดับอัลบูมินในปัสสาวะที่เป็นตัวบ่งชี้การเสื่อมของไตในผู้ป่วยโรคนิ่วไต โดย ศาสตราจารย์ปิยะรัตน์ โตสุโขวงศ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รางวัลรองชนะเลิศ จากผลงานวิจัย การพัฒนาอนุภาคซิลิกานาโนฟลูออเรสเซนต์ติดฉลากแอนติบอดีแบบควบคุมทิศทางสำหรับการตรวจจับมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดย ดร.สุวัสสา บำรุงทรัพย์ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ