นโยบายความปลอดภัยนาโน

นโยบายความปลอดภัยนาโน

ในต่างประเทศ หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยนาโนในระดับประเทศ มักเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจกำกับดูแลด้านความปลอดภัยที่มีอยู่เดิมในสามสาขา ได้แก่ หน่วยงานคุ้มครองสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค (เทียบได้กับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) หน่วยงานคุ้มครองความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน (เทียบได้กับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงสาธาณสุข) และหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (เทียบได้กับกรมควบคุมมลพิษ) อย่างไรก็ตามเพื่อผลในการควบคุมกันเอง หน่วยงานกึ่งวิชาการที่มีภารกิจในการกำหนดมาตรฐานระดับประเทศ อาจจะเป็นคนละหน่วยงานกับหน่วยงานที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย ตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา มีรัฐบัญญัติความปลอดภัยและอาชีวอนามัย พ.ศ. 2513 (Occupational Safety and Health Act of 1970) ก่อตั้งสำนักงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (Occupational Safety and Health Administration หรือ OSHA) เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน (Department of Labor) มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ในขณะเดียวกันรัฐบัญญัติเดียวกันนั้นก็ก่อตั้งสถาบันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ  (National Institute for Occupational Safety and Health หรือ NIOSH) เป็นหน่วยงานวิชาการ สังกัดศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค  (Center for Disease Control and Prevention หรือ CDC) กระทรวงสาธารณสุข (Department of Health and Human Services) มีหน้าที่สร้างองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยแรงงาน และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีของผู้ใช้แรงงาน ในทวีปยุโรป มีกลไกความร่วมมือในภูมิภาค คือสหภาพยุโรป ที่สามารถตั้งข้อกำหนด (Directive) ให้ประเทศสมาชิกต้องออกกฎหมายหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายภายในตามข้อกำหนดนั้น ซึ่งเป็นการปรับระบบกฎหมายในประเทศสมาชิกให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) อย่างไรก็ตามอาเซียนและเวทีนาโนเอเซีย (Asia Nano Forum) ไม่มีกลไกดังกล่าว ประเทศไทยจึงได้เข้าร่วมในเวทีระดับโลก เช่น OECD-WPMN โดยตรง

เอกสารอ้างอิง

เลอสรร ธนสุกาญจน์ (2550) รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาสถานภาพและการจัดทำแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยี ภาค 1: สถานภาพ แนวโน้ม และองค์ความรู้ล่าสุดของต่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการสนับสนุนจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ 12 พฤศจิกายน 2550

เลอสรร ธนสุกาญจน์ และคณะ 2555. แนวปฏิบัติเบื้องต้นด้านความปลอดภัยนาโนสำหรับภาคอุตสาหกรรม. จัดทำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการจัดจ้างจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม พิมพ์ครั้งที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ISBN: 978-616-551-494-1