แนวนโยบายมหภาคของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยนาโน

แนวนโยบายมหภาคของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยนาโน

แนวนโยบายมหภาคของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยนาโน อาจเห็นได้จากเอกสารนโยบายดังต่อไปนี้ (1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (2) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (3) วาระแห่งชาติ (4) นโยบายที่รัฐบาลในอดีตและปัจจุบันได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา (5) แผนกลยุทธนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (6) แผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ (7) แผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยี

(1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แสดงวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ประชาชนมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ทุกภาคส่วนของสังคมทำงานโดยใช้หลักคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ภาคเอกชนแข่งขันกันประกอบกิจการอย่างเสรีและเป็นธรรม ประชาชนเป็นผู้บริโภคที่ฉลาดและไม่เสียเปรียบภาคธุรกิจ ในขณะที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่สำคัญของประเทศ” ถึงแม้จะไม่ได้กล่าวถึงนาโนเทคโนโลยีหรือความปลอดภัยนาโนโดยตรง แต่โดยอ้อมแล้ว การมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด และสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ของประชาชน ก็มีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยนาโน ไม่มากก็น้อย

(2) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 มีเป้าหมายอยู่ที่ “สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน บนรากฐานการพัฒนาของความสมดุลในมิติเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความเกี่ยวข้องโดยทางอ้อมกับความปลอดภัยนาโน เช่นเดียวกับกรณีรัฐธรรมนูญ

(3) วาระแห่งชาติ

จากการสำรวจวาระแห่งชาติในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา วาระแห่งชาติที่น่าจะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยนาโน มีอยู่สองเรื่อง ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (ในที่นี้หมายถึงศักยภาพของนาโนเทคโนโลยีได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากทุกภาคส่วนไว้วางใจว่าไทยมีการป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดมาจากนาโนเทคโนโลยีและวัสดุนาโนที่ผลิตขึ้น) และการพัฒนาที่ยั่งยืน (ในที่นี้หมายถึงการมีมาตรการทำให้อุตสาหกรรมนาโนไม่เป็นภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม)

(4) นโยบายที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภา

นโยบายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยนาโน มีหลายด้าน เช่น

นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ: มักกล่าวถึงบทบาทความร่วมมือกับประชาคมโลกเพื่อกำหนดบรรทัดฐานระหว่างประเทศ หรือกระชับความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับต่างประเทศ ซึ่งกินความถึงความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความปลอดภัยนาโนด้วย

นโยบายความมั่นคงแห่งรัฐ: มักกล่าวถึงการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ หรือกล่าวว่าจะพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพและระบบป้องกันประเทศ … พัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติ เป้าหมายเหล่านี้ในอนาคตจะต้องพึ่งพานาโนเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่การลงทุนของภาครัฐเพื่อพัฒนานาโนเทคโนโลยีเป็นส่วนกลับกับความกังวลเรื่องความปลอดภัย

นโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: มักกล่าวถึงการ”เพิ่มประสิทธิภาพ… การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ … การจัดการระบบกำจัดขยะ ของเสียอันตราย …สร้างกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดสมดุลย์ระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมและการรักษาสิ่งแวดล้อม” ซึ่งไม่เป็นการยากที่จะเห็นความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยนาโน เนื่องจากถ้าขาดมิติด้านความปลอดภัยแล้ว นาโนเทคโนโลยีและวัสดุนาโนที่ผลิตขึ้นก็สามารถสร้างมลภาวะซึ่งเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมได้

นโยบายแรงงาน: มักกล่าวว่า “รัฐบาลจะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีความปลอดภัย มีสภาพการจ้างงานดี” หรือกล่าวตรงๆ ว่า “รัฐบาลจะให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยในการทำงานและสวัสดิการแรงงาน” ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับประเด็นความปลอดภัยนาโนของผู้ปฎิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมนาโน

นโยบายสาธารณสุข: มักใช้ข้อความว่า “ลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพ … ที่นำปสู่การเจ็บป่วยเรื้อรัง … รวมทั้งการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่” หรือ “สร้างขีดความสามารถในการเฝ้าระวัง” ซึ่งก็มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับประเด็นความปลอดภัยนาโนสำหรับผู้บริโภคสินค้าและบริการต่างๆ

(5) แผนกลยุทธนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ

จากความสำคัญของนาโนเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ในขณะที่คาดว่าในสิบปีข้างหน้าผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีทั่วโลกจะมีมูลค่ารวมมากกว่า 40 ล้านล้านบาท คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2546 เห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) ขึ้นภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) ได้จัดทำแผนกลยุทธ์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (พ.ศ. 2547- 2556) ขึ้น โดยมีเป้าหมายว่า

ประเทศไทยจะผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้นาโนเทคโนโลยี คิดเป็นร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์ มวลรวมในประเทศ (มูลค่าประมาณ 120,000 ล้านบาท)

ประเทศไทยจะสามารถยกระดับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคนไทย ให้อยู่ในระดับมาตรฐานโลก โดยการพัฒนาวัสดุ อุปกรณ์ และระบบที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และ สุขภาพด้วยนาโนเทคโนโลยี

ประเทศไทยจะอยู่ในระดับแนวหน้าการศึกษาและวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยี ของภูมิภาคอาเซียน

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์นาโนเทคโนโลยี 5 ประการ ดังต่อไปนี้

กลยุทธ์ที่ 1: ผลักดันนาโนเทคโนโลยีเข้าหนุนการพัฒนาคลัสเตอร์เป้าหมาย

กลยุทธ์ที่ 2: พัฒนากำลังคนด้านนาโนเทคโนโลยี

กลยุทธ์ที่ 3: ลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี

กลยุทธ์ที่ 4: พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านนาโนเทคโนโลยี

กลยุทธ์ที่ 5: สร้างความตระหนักในความสำคัญของนาโนเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง

ในกลยุทธการสร้างความตระหนักในความสำคัญของนาโนเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง (กลยุทธที่ 5) ของแผนกลยุทธนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (พ.ศ. 2550-2556) มีรายละเอียดของมาตรการที่ 2 (การให้ความรู้และสร้างกลไกดูแลความปลอดภัยและจริยธรรมของการใช้นาโนเทคโนโลยี) ดังนี้

แนวทางปฏิบัติที่ 2-1: จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อกำกับดูแลด้านความปลอดภัยและจริยธรรมของการผลิต ผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ ตลอดจนการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี (คณะกรรมการระดับชาตินี้ ต่อมาได้รับชื่อเป็นทางการว่า “คณะอนุกรรมการด้านความปลอดภัยและการบริหารความเสี่ยงด้านนาโนเทคโนโลยี” สังกัด “คณะกรรมการนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ”)

แนวทางปฏิบัติที่ 2-2: ติดตาม รวบรวม และพัฒนาองค์ความรู้ และระบบความปลอดภัยด้านนาโนเทคโนโลยี โดยศึกษาจากทั้งในและต่างประเทศ (ต่อมาใน พ.ศ. 2550 ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้จ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาในหัวข้อเรื่องดังกล่าว)

แนวทางปฏิบัติที่ 2-3: พัฒนาศักยภาพและความเชื่อมโยงระหว่างองค์กรที่กำกับดูแลคุณภาพ และองค์กรที่กำกับดูแลความปลอดภัย ของผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยี

(6) แผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ

ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการสารเคมี ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหากากของเสียอันตราย สารตกค้างในผลิตภัณฑ์และในสิ่งแวดล้อม และการเกิดอุบัติภัยสารเคมี ทำให้เวทีการประชุมในระดับโลกหลายเวที ได้นำการจัดการสารเคมีมาเป็นวาระเพื่อหาข้อเสนอที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรม เวทีเหล่านี้ได้แก่ การประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Summit on Sustainable Development หรือ WSSD) เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals หรือ MDGs) เวทีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความปลอดภัยด้านสารเคมี (Intergovernmental Forum on Chemical Safety หรือ IFCS) และยุทธศาสตร์การดำเนินงานระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสารเคมี (Strategic Approach to International Chemical Management หรือ SAICM) สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้เข้าเป็นสมาชิกโครงการระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยด้านสารเคมี (International Programme on Chemical Safety หรือ IPCS) ตั้งแต่ปี 2528 และเป็นศูนย์ประสานงานแห่งชาติของเวทีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความปลอดภัยด้านสารเคมี (IFCS) ตั้งแต่ปี 2537

ประเทศไทยมีแผนแม่บทและแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยด้านสารเคมีมาแล้ว 4 ฉบับ ได้แก่

  1. แผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2540-2544) มุ่งเน้นการประสานงานเพื่อความปลอดภัยด้านสารเคมีในระดับชาติ
  2. แผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2549) มุ่งเน้นการจัดการสารเคมีที่เป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี
  3. แผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2550-2554) มีทิศทางและแนวทางการดำเนินงานที่จะนำประเทศสู่สังคมปลอดภัยจากอันตรายด้านสารเคมี สู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนและแข่งขันได้ในระดับสากล โดยประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ คือ

พัฒนาระบบบริหารจัดการสารเคมี

ลดความเสี่ยงอันตรายจากสารเคมี ด้วยการพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และพัฒนาและส่งเสริมความปลอดภัยสารเคมีทางอุตสาหกรรมที่เหมาะสม

ส่งเสริมความปลอดภัยและบทบาทประชาชนในการจัดการสารเคมี

  1. แผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2555-2564) กำหนดเป้าประสงค์ไว้ว่า “ภายในปี 2564 สังคมและสิ่งแวดล้อมปลอดภัยบนพื้นฐานของการจัดการสารเคมีที่มีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ” โดยประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ คือ

พัฒนาฐานข้อมูล กลไก และเครื่องมือในการจัดการสารเคมีอย่างเป็นระบบ ครบวงจร

พัฒนาศักยภาพและบทบาทในการบริหารจัดการสารเคมีของทุกภาคส่วน

ลดความเสี่ยงอันตรายจากสารเคมี

จุดเด่นของแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 4 ได้แก่ “กลวิธีที่กําหนดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาช่องว่างและประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นจากการดําเนินงานที่ผ่านมา ตลอดจนการกําหนดกลวิธีในเชิงรุก ซึ่งได้แก่ การศึกษาแนวทางการจัดตั้งองค์กรกลางในการจัดการสารเคมีระดับชาติ การเน้นการควบคุมสารเคมีด้วยเครื่องมือด้านกฎหมายจากต้นน้ําถึงปลายน้ำ การใช้เครื่องมือด้านการประเมินที่รวมถึงการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ร่วมในการจัดการสารเคมี มีการลดความเสี่ยงในภาคสาธารณสุขและผู้บริโภคและภาคการขนส่ง นอกเหนือจากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การพัฒนางานด้านระบาดวิทยาสารเคมี การเสริมสร้างความเข้มแข็งและบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการสารเคมี การลดความเสี่ยงอันตรายจากสารเคมีเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการ และการส่งเสริมความร่วมมือของภาคประชาชน ภาคเอกชน และ กลุ่มวิชาชีพและเครือข่ายทางสังคมต่างๆ”

เอกสารอ้างอิง

เลอสรร ธนสุกาญจน์ (2550) รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาสถานภาพและการจัดทำแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยี ภาค 1: สถานภาพ แนวโน้ม และองค์ความรู้ล่าสุดของต่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการสนับสนุนจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ 12 พฤศจิกายน 2550

เลอสรร ธนสุกาญจน์ และคณะ 2555. แนวปฏิบัติเบื้องต้นด้านความปลอดภัยนาโนสำหรับภาคอุตสาหกรรม. จัดทำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการจัดจ้างจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม พิมพ์ครั้งที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ISBN: 978-616-551-494-1