ครั้งแรกของการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ CCUS Roadmap นำไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น - ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการ ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS) Technology Roadmap" Navigating Thailand towards Carbon Neutrality ครั้งที่ 1 โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร. พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านสิ่งแวดล้อม จาก สกสว. เป็นผู้กล่าวเปิดงาน พร้อมทั้งหน่วยงานผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ กว่า 52 หน่วยงาน รวมผู้เข้าร่วมราว 150 คน

ภายในงาน มีการบรรยายพิเศษแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในประเด็น “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCUS เพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero” โดยคุณสุรชัย วังรัตนชัย Carbon Capture and Utilization Director  บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด, คุณพงษ์กิตติ์ ลักษมีพิเชษฐ์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่าย Carbon Capture and Utilization (CCU) และ Hydrogen บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ ศ.ดร.วรงค์ ปวราจารย์ ประธานคณะทำงาน CCUS Consortium คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และกิจกรรมไฮไลท์ของงานที่สำคัญได้แก่ การระดมสมองเพื่อกำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของ CCUS TRM รวมทั้งการวิเคราะห์ application หรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCUS และเป้าหมายปริมาณคาร์บอนที่คาดว่าจะจัดการได้ ตลอดจนการวิเคราะห์เทคโนโลยี CCUS ทั้ง CCS และ CCU ที่สามารถตอบความต้องการ application นั้นๆ ได้ ซึ่งช่วงกิจกรรมดังกล่าว นำโดย รศ.ดร.ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทำ TRM และ ดร.สุธี ผู้เจริญชนะชัย รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ในฐานะผู้แทนคณะวิจัย

ข้อมูลที่ได้จากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะนำไปสู่ร่าง CCUS TRM ที่ประกอบด้วยข้อมูล application และเทคโนโลยี CCUS โดยจะใช้เป็นข้อมูลในการระดมสมองจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ CCUS TRM ครั้งที่ 2 ต่อไป ที่จะเน้นต่อยอดไปสู่การกำหนดนโยบาย หรือกลไกสนับสนุนในมิติต่างๆที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้ TRM ฉบับนี้ สามารถใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย carbon-neutral และ net-zero ของประเทศไทย