นาโนเทค สวทช. ผนึกกำลังพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ชูประเด็นระดับประเทศ ภายใต้งานสัมมนา“รู้ใจ ไม่รู้ไต : ร่วมชะลอภัยโรคไต ด้วยระบบนิเวศนวัตกรรมไทย”  ในงาน NAC2024

วันที่ 29 มีนาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. สวทช. โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) จัดงานสัมมนา“รู้ใจ ไม่รู้ไต : ร่วมชะลอภัยโรคไต ด้วยระบบนิเวศนวัตกรรมไทย” ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 3 อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ภายใต้งานประชุมวิชาการ NAC2024 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล และบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน กับการรับมือกับปัญหาโรคไตในประเทศไทย พร้อมทั้งแสดงเจตจำนงค์ร่วมกันในการบูรณาการความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการนำนวัตกรรมไทยไปใช้ประโยชน์ในการชะลอและป้องกันโรคไตให้กับประชาชนไทยได้อย่างแท้จริง

โดยมี ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเปิดงาน ต้อนรับวิทยากรและผู้เข้าร่วมสัมมนา ภายในงานได้รับเกียรติจากวิทยากร ทั้งจากทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย ทพ. อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ. วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย รศ.พญ. ศิริรัตน์ อนุตระกูลชัย หัวหน้าโครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (CKDNET) มหาวิทยาลัยขอนแก่น เภสัชกร กฤษณภัชฏ์ จิตจักร Senior Therapeutic Area Medical Partner, Nephrology บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และดร. เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทค สวทช. ร่วมด้วยผู้ดำเนินรายการช่วงเสวนา ดร.พสุ สิริสาลี นักวิจัยอาวุโส จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. พร้อมกันนี้ รศ.ดร. เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เอ็มเทค สวทช. ได้ให้เกียรติมาร่วมงานในฐานะที่ปรึกษาแผนงานชุดตรวจโรคไต สวทช.

ภายในงานได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ข้อมูลสำคัญของสถานการณ์โรคไตในประเทศไทย ข้อมูลงบประมาณที่ประเทศไทยต้องใช้จ่ายเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไต และแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดรับกับค่าใช้จ่ายดูแลรักษาผู้ป่วยที่ภาครัฐต้องแบกรับด้วยตัวเลขที่สูงขึ้นในทุกปี นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้รับฟังแนวทางวิจัยพัฒนาชุดตรวจโรคไตของทีมวิจัยศูนย์นาโนเทค สวทช. และผลการนำไปใช้ตรวจตรวจคัดกรองในชุมชน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนบทบาทของภาคเอกชนที่มีความตั้งใจในการร่วมรับมือกับปัญหาโรคไตผ่านการสร้างความตระหนักและร่วมพัฒนาและผลักดันนวัตกรรมป้องกันและชะลอโรคไต

ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐ โดย สปสช. ได้มีการดำเนินโครงการ “ชะลอไตเสื่อม” ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน ซึ่งหน่วยงานภาครัฐในระบบสาธารณสุขและองค์กรต่างๆ หรือกลุ่มประชาชน (ภายใต้เงื่อนไข) สามารถเสนอโครงการเพื่อรับการจัดสรรงบประมาณแบบ matching fund เพื่อใช้จัดกิจกรรมป้องกันและชะลอโรคไตได้ พร้อมกันนี้ สปสช. อยู่ระหว่างวางแผนผลักดันนำชุดตรวจโรคไตเข้าสู่ระบบสิทธิประโยชน์บัตรทอง เพื่อช่วยรู้ตัวเร็ว และชะลอไตเสื่อม โดยคาดว่าจะเป็นแนวทางรับมือที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยและภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐลงได้อย่างมีนัยสำคัญ สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมในห้องสัมมนาราว 173 ท่าน ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม จาก 72 หน่วยงาน และเข้าฟังผ่านทาง Facebook Live ของ สวทช. อีกจำนวนมาก และผู้ที่สนใจสามารถรับชมย้อนหลังผ่านทางเฟชบุค  NSTDA สวทช. ตามลิ้งค์นี้

https://www.facebook.com/share/v/nsKrwFLWeN5VipQF/?mibextid=oFDknk)

 

 

ข้อมูลข่าวประชาสัมพันธ์ : งานงานนโยบาย แผน และกลยุทธ์ ศน.

ภาพประกอบ : ทีมวิจัยระบบหุ่นยนต์และเข็มระดับนาโน และงานพัฒนาบุคลากรและองค์กร ศน.