นาโนเทค สวทช. จับมือเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมเปิดเวทีคุยเฟื่องเรื่องฝุ่นขนาดเล็ก

นาโนเทค สวทช. จับมือเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นขนาดเล็ก รับมือสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาฝุ่นขนาดเล็กในสภาพแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้าง ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับฝุ่นขนาดเล็กจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพื่อให้ทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชนได้มีส่วนร่วมในการป้องกัน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงการทำงานที่มีความเกี่ยวข้องกับวัสดุนาโน ซึ่งมีขนาดเล็ก และบางครั้งก็อยู่ในรูปแบบผง ซึ่งเมื่อมีกระบวนการผลิตก็มีโอกาสที่จะฟุ้งกระจาย เกิดเป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กระดับนาโน การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก็เป็นพื้นฐานที่จะทำให้ผู้ที่ทำงานสามารถป้องกันตนเอง และจัดการระบบต่าง ๆ ในสภาวะการทำงาน ให้เหมาะสมเพื่อตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หากมีการบริหารจัดการที่ไม่ถูกต้อง การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีประสิทธิภาพจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุม CC – 306 อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี งานความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม เรื่องความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี จัดสัมมนาเรื่อง ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นขนาดเล็ก (Nanosafety: Legislation of submicron particles) ภายในการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 18 (NAC2023) โดยมี พลตรี ร.ศ. ดร. ชัยณรงค์ เชิดชู ประธานคณะทำงานโครงการเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม เรื่องความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี เป็นผู้กล่าวเปิดการสัมมนา

ฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศและการวิเคราะห์” โดยดร. รัฐพร แสนเมืองชิน นักวิจัย กลุ่มวิจัยการวิเคราะห์ระดับนาโนขั้นสูงและความปลอดภัย นาโนเทค สวทช. แสดงข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรม และฤดูกาลที่ส่งผลต่อปริมาณฝุ่นละออกขนาดเล็ก เช่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จากผลการวิเคราะห์พบว่าฝุ่นขนาดเล็กเกิดจากการการจราจรซึ่งมีสาเหตุมาจากการสันดาปของเครื่องยนต์

และนอกจากจะพบปริมาณ PM 2.5 จำนวนมากแล้ว ยังพบฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า PM 2.5 ในปริมาณสูงซึ่งฝุ่นขนาดเล็กมากเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้รุนแรงกว่า PM 2.5 แน่นอน แนวทางการลดปริมาณฝุ่นขนาดเล็กสามารถทำได้โดยลดการใช้พาหนะแบบใช้เครื่องยนต์แบบสันดาปโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร มาใช้การขนส่งมวลชน หรือพานหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทน

“กฎหมายโรงงานที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นระเบิด” โดย ดร. ปัทมวรรณ คุณประเสริฐ นักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม นำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายของกรมโรงงาน และนิยามของคำว่าโรงงาน รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตราย

ทั้งนี้ โรงงานที่มีฝุ่นสะสมจะต้องมีการทำความสะอาด และควบคุมปริมาณฝุ่นไม่ให้มากเกินไป เนื่องจากเมื่อเกิดระเบิดครั้งแรก จะทำให้ฝุ่นที่เกาะอยู่ภายในอาคาร และพื้นที่การทำงานเกิดการกระจายตัว และส่งผลให้เกิดการระเบิดต่อเนื่อง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตของโรงงาน ซึ่งกำลังเตรียมประกาศ และจะมีผลบังคับใช้ในระยะเวลาอันใกล้นี้

เรื่อง กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานใน การบริหารจัดการ และดําเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานเกี่ยวกับสารเคมี” โดย นายปิยวัฒน์  ปาลี นักวิชาการแรงงานปฏิบัติการ กองความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ที่นำเสนอข้อมูลไปยังผู้ประกอบการให้ทราบว่า แม้สถานประกอบการจะไม่เข้าข่ายโรงงาน แต่หากมีผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของกระทรวงแรงงาน โดยผู้ที่รับผิดชอบคือนายจ้าง โดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตรายซึ่งกฎหมายได้ประกาศไว้ 1516 รายการ จะต้องมีการดูแลในเรื่องสถานที่ มาตรการความปลอดภัยของผู้ที่ทำงาน ตัวอย่างเช่นผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารตะกั่ว จะต้องมีพื้นที่ชำระล้างแยกจากห้องปกติ จะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์  เช่น ฝักบัวและอ่างล้างตาฉุกเฉิน รวมถึงติดตามสุขภาพของผู้ทำงานที่อาจมีความเสี่ยงสูง โดยเน้นย้ำว่าผู้ที่รับผิดชอบคือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องรับทราบ และดูแลรับผิดชอบต่อผู้ที่ทำงานภายในสถานประกอบการของตน

“วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยสำหรับการทำงานที่เกี่ยวข้องกับวัสดุนาโน” โดย ดร. เวฬุรีย์ ทองคำนักวิชาการอาวุโส งานความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี นาโนเทค สวทช. ชี้ให้เห็นถึง วัสดุนาโนที่จัดอยู่ในประเภทสารเคมี ซึ่งการทำงานกับวัสดุนาโนแต่ละประเภทจะมีความเสี่ยงต่อการรับสัมผัสเข้าสู่ร่างกายแตกต่างกัน โดยวัสดุนาโน ที่อยู่ในแบบผงแห้งที่สามารถฟุ้งกระจายได้จะมีความเสี่ยงสูงกว่า วัสดุนาโนที่อยู่ในรูปคอลลอยด์ และวัสดุนาโนที่ฝังตัวอยู่ในวัสดุขนาดใหญ่จะมีความเสี่ยงต่ำที่สุด แต่หากมีกิจกรรมที่ต้องกระทำการตัด เจาะ สกัด กัดกร่อน เชื่อม เลื่อย หรือขึ้นรูป วัสดุนาโนที่ฝั่งตัวอยู่ก็จะมีการหลุดและฟุ้งกระจายออกมาได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นการเลือกวิธีการควบคุมทางวิศวกรรม และการใช้ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการรับสัมผัสของวัสดุนาโนในขณะทำงานได้ ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่จะต้องเลือกใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยของผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับวัสดุนาโน โดยเฉพาะวัสดุนาโนในรูปแบบผงแห้ง รวมถึงการนำเสนอตัวอย่างข้อมูลอุบัติเหตุที่เคยเกิดระหว่างกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการใช้งานวัดสุนาโน ในประเทศต่าง ๆ